สบส. สั่งปิด! “คลินิกพิมรี่พาย” เป็นเวลา 30 วัน เซ่นปมหมอเถื่อน!

สบส. สั่งปิด คลินิกพิมรี่พาย แล้วเป็นเวลา 30 วัน เซ่นปมหมอเถื่อน แจงความผิดหลักอยู่ที่แพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล พร้อมล่าตัวผู้กระทำผิด

กรณี น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือพิมรี่พาย หุ้นส่วนอิสคิวท์ คลินิกเวชกรรม สาขา ห้วยขวาง เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่าถูก น.ส.อาลินดา (สงวนนามสกุล) ใช้เอกสารใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หญิงท่านอื่น มาสมัครเป็นแพทย์ผู้ให้บริการของคลินิก จนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 18 ธ.ค.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ตามข่าวขึ้น เมื่อวันที่ 17ธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ลงพื้นที่ที่ อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เพื่อตรวจสอบข้อมูล โดยระหว่างนี้ สบส. ได้สั่งปิดให้บริการเฉพาะสาขาดังกล่าวชั่วคราว เป็นเวลา 30 วัน ในส่วนของเจ้าของสถานพยาบาลก็จะมีโทษตามกฎหมายสถานพยาบาลต่อไป ที่ปิดเพียงสาขาเดียวเนื่องจากต้องดูจากเหตุที่เกิด เรายังพบแค่สาขาเดียว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า เรากำลังออกคำสั่งในการสั่งปิดสถานพยาบาลชั่วคราว 30 วัน อธิบายได้คือตามแนวทางหากพบสถานพยาบาลที่มีแพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หรือ หมอเถื่อน เข้ามาทำงาน ถือว่าไม่ปลอดภัยต่อประชาชนจึงต้องสั่งปิดชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดการปรับปรุงและระมัดระวังมากขึ้น ขณะนี้ที่ผิดแน่นอน คือ หมอที่แอบอ้างตัว ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวนกำลังออกหมายจับอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าของคลินิกระบุว่า แพทย์จริงที่ประจำคลินิกเป็นผู้รับสมัครงานจากหมอเถื่อน ความผิดจะตกแก่ใคร นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามกฎหมายนั้น คลินิกจะประกอบด้วย 1.ผู้รับอนุญาต คล้ายเป็นเจ้าของกิจการ ที่จะเป็นบุคคลทั่วไปหรือบริษัท และ 2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล คือ แพทย์ในคลินิกที่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์ตามแต่ละสาขา คล้ายผู้จัดการทางการแพทย์ มีหน้าที่จัดหาผู้ให้บริการที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่ามีหมอเถื่อนในคลินิก

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เบื้องต้นจึงมีโทษจากการไม่จัดผู้ให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีว่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่นั้น ต้องรอให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

“ขณะนี้เบื้องต้นความผิดหลักอยู่ที่ผู้ดำเนินการ ส่วนภาพรวมถือว่าสถานพยาบาลไม่ปลอดภัย พบหมอเถื่อนเข้ามาทำงาน ตามหลักจึงต้องปิดปรับปรุง 30 วัน ส่วนเจ้าของคลินิก ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ยังไม่พบความผิด แต่สิ่งที่เราปิดสถานพยาบาล เป็นการลงโทษเจ้าของตามโทษการปกครองแล้ว” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบความผิดในด้านอื่น ๆ เช่น คลินิกมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยโดยไม่ได้รับอนุญาต การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และการไม่แจ้งรายชื่อของแพทย์ผู้ให้บริการกับผู้อนุญาต ซึ่งจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป