ส่องปรากฏการณ์ดาราศาสตร์บนท้องฟ้า ชมความงาม “ฝนดาวตก”

ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นที่สนใจ เฝ้ารอชม ความสวยงามความน่ามหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นยังส่งต่อการค้นคว้า การเสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผล

“ฝนดาวตก” ปรากฏการณ์ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 12 สิงหาคมเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เด่นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ชวนค้นเรื่องน่ารู้ฝนดาวตก ชวนนับดาวที่มีอัตราการตกสูงของ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือ ฝนดาวตกวันแม่ โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความรู้ในประเด็นดังกล่าว พร้อมเล่าถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามเดือนสิงหาคมอีกว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือฝนดาวตกวันแม่ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ฝนดาวตกเด่นโดยมีอัตราการตกสูง

“ในรอบปีแม้จะมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ที่มีอัตราการตก 100 ดวงต่อชั่วโมงขึ้นไป มีไม่เยอะ และหนึ่งในนั้นคือฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ฝนดาวตกที่มีอัตราการตกค่อนข้างสูง และหากเกิดขึ้นในคืนที่ไร้แสงจันทร์กวน ท้องฟ้าใส ไร้เมฆฝนยิ่งทำให้สังเกตการณ์ ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ชัดเจน และสำหรับปีนี้ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง โดย สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 12 สิงหาคมจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม”

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จากการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์จะสังเกตฝนดาวตกได้ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยถือเป็นช่วงเวลาดีที่จะได้สังเกตการณ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส แต่ทั้งนี้จะเห็นได้มากหรือน้อยอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่สังเกตการณ์ มีความมืดมากน้อยแค่ไหน หรือทัศนวิสัยท้องฟ้า ทั้งนี้แนะนำให้อยู่ในจุดสังเกตการณ์ที่ห่างไกลจากแสงไฟรบกวน

“ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ โดยมีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษหิน เศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์ ทัตเทิล เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษหิน เศษฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า”

จากที่กล่าวหากสังเกตจะเห็นสีสัน แสงสว่างวาบ โดยสิ่งนี้บ่งบอกถึงธาตุองค์ประกอบของดาวตกนั้น ๆ บอกเล่าวัตถุที่กำลังเสียดสีกับชั้นบรรยากาศและกำลังเผาไหม้มีองค์ประกอบหลักทางเคมีใด อย่างเช่น สีเหลือง เป็นเหล็ก ถ้ามีสีแดง เป็นไนโตรเจน ออกซิเจน เป็นต้น นอกจากนี้จากปรากฏการณ์ฝนดาวตก หลังจากให้ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ออกไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังทำให้มีความเข้าใจ เกิดการติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงความสำคัญของ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

“ดาวตกในแต่ละคํ่าคืนเป็นไปได้ที่จะพบเห็น แต่จะเห็นได้น้อยต่างจากช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก เห็นได้มากและมีโอกาสสังเกตเห็นดาวตกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ลูกไฟ (Fireball) ดาวตกที่มีขนาดใหญ่ มีหางยาวเห็นการลุกไหม้ได้ค่อนข้างนาน หรือ ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) โดยมีการเสียดสีในชั้นบรรยากาศและมีการแตกออกเป็นหลาย ๆ ลูก ฯลฯ เป็นอีกความต่าง เป็นความพิเศษในช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตก และครั้งนี้ ถ้าไม่มีอุปสรรคในเรื่องของเมฆฝน ท้องฟ้าใสกระจ่าง ไม่มีแสงจากดวงจันทร์รบกวนยิ่งมีโอกาสสังเกตเห็นได้ชัดเจน และถ้ามีโอกาสได้ไปดูดาวในพื้นที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด พื้นที่อุทยานฯ ที่ไม่มีแสงไฟรบกวนจะเห็นได้ชัดเจน”

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ในอดีตถ้าพูดถึงฝนดาวตกที่มีความสวยงาม มีความสว่าง มีสีสันมาก อันดับหนึ่งนักดาราศาสตร์ยกให้กับ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ โดยฝนดาวตกนี้จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 17 และ 18 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นฝนดาวตกที่มีความสวยงาม

ขณะที่ลำดับสอง ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่าง และมีความโดดเด่น อีกปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่ต่างชาติให้ความสนใจ รอชมเช่นกัน ส่วนในลำดับรองลงมา ฝนดาวตกเจมินิดส์ อีกปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่จะตรงกับช่วงฤดูหนาว โดยเกิดขึ้นในคืนวันที่ 13-14 ธันวาคมของทุกปี มีอัตราการตกสูง แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีอัตราการตกสูง แต่หากบางปีมีแสงจันทร์รบกวนก็อาจสังเกตเห็นได้น้อย

“ปีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกคนคู่ได้ตลอดคืน เห็นได้นับแต่ช่วงหัวคํ่า โดยไม่มีแสงดวงจันทร์ซึ่งต่างจากปีที่ผ่านมาที่มีแสงของดวงจันทร์รบกวน อีกทั้งปีนี้จากการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์จะมีอัตราการตกสูงถึง 150 ดวง ต่อชั่วโมง”

ในส่วนของฝนดาวตกลีโอนิดส์ อัตราการตกค่อนข้างน้อย แต่เมื่อตกลงมาจะเกิด Fireball ลูกใหญ่น่าชม ดังนั้นเพื่อไม่พลาดการชมควร ตรวจเช็กข้อมูลให้พร้อม เช็กวัน เวลาที่มีอัตราการตกสูง ทั้งตรวจเช็กข้อมูลดวงจันทร์ โดยดูว่าในคืนดังกล่าวมีแสงของดวงจันทร์รบกวนหรือไม่

อีกทั้งควร ตรวจสอบสภาพอากาศ ในวันดังกล่าว มีสภาพอากาศอย่างไร เหมาะหรือไม่ที่จะออกไปดูฝนดาวตก รวมถึงสถานที่ที่ไปสังเกตการณ์ ควรเป็นสถานที่ที่มีความมืดปราศจากแสงรบกวน โดยถ้าทั้งสี่ปัจจัยตรวจสอบแล้วพร้อมทั้งหมด จะทำให้มีโอกาสที่ดีในการชม

“ปรากฏการณ์ฝนดาวตกนอกจากปลูกสร้างความรู้ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในด้านการถ่ายภาพ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นอีกประเภทภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากนักถ่ายภาพต่อเนื่อง และจากภาพถ่ายยังเป็นข้อมูลบอกเล่าความแตกต่างของอัตราการตกของฝนดาวตกแต่ละปี แต่ละปรากฏการณ์ ฯลฯ”

นอกจากปรากฏการณ์ฝนดาวตก ในเดือนสิงหาคมยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ที่น่าติดตาม โดยผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า โดยหลัก ๆ ปรากฏการณ์ที่จะต่อจากฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์จะมีขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 เวลา 12.22 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นโลก หากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี

ส่วนช่วงปลายเดือนจะมีปรากฏการณ์ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี โดยดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเริ่มสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก ปรากฏสุกสว่าง สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

“การที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตดาวเสาร์ได้ตลอดคืนเรียกว่าหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าปุ๊บ ดาวเสาร์จะปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออก จะได้เห็นดาวเสาร์ได้นับแต่หัวคํ่าจนถึงรุ่งเช้า โดยถ้าสังเกตไปเรื่อย ๆ ช่วงหน้าหนาวดาวเสาร์จะขึ้นเร็วและก็ลับฟ้าไปเร็วเช่นกัน ดังนั้นถ้ารอส่องกล้องชมดาวเสาร์ในช่วงเวลานั้น เวลาชมก็จะลดน้อยลง”

ซูเปอร์บลูมูน อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยจะมีปรากฏการณ์ ซูเปอร์ฟูลมูน หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี โดยมีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และอีกความพิเศษคือ บลูมูน (Blue Moon) หรือดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน

“ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงครั้งเดียว จะไม่บ่อยที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง ที่ผ่านมาดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกมีขึ้นแล้วในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และจะเกิดขึ้นอีกครั้งปลายเดือนนี้ โดยที่พิเศษยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดของปีจึงเรียกว่า “ซูเปอร์บลูมูน”

ในคืนวันนั้นดวงจันทร์จะเต็มดวง สวยงาม โดยถ้าแนะนำการชม ควรรอชมนับแต่ช่วงหัวคํ่าขณะที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นจากขอบฟ้า และหากถ่ายภาพเทียบกับวัตถุจะเห็นขนาดของดวงจันทร์ที่น่าตื่นตา ตื่นใจ ฯลฯ” อีกปรากฏการณ์ที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจธรรมชาติ

สร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ บอกเล่าความงามท้องฟ้า ดวงดาวยามคํ่าคืน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ