“หมอธีระ” ชี้ “โควิด-19” ยังคร่าชีวิตคนไทย สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ย้ำควรฉีดเข็มกระตุ้นทุกคน

“หมอธีระ” ชี้โควิด-19 ยังคร่าชีวิตคนไทย สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ย้ำควรฉีดเข็มกระตุ้นครั้งที่ 1 หรือเข็ม 3 ทุกคน ส่วนคนสูงวัย คนในอาชีพเสี่ยง ควรฉีดเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือเข็ม 4 ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ยืนยันการสวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็น ส่วน “อนุทิน” โชว์ผลตรวจ ATK หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว เตรียมกลับมาทำงาน 4 ก.ค. ด้าน ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อยันยังเปิดฉีดวัคซีนต่อเนื่อง รวมถึงมีวัคซีน “โมเดอร์นา” ให้ตลอดก.ค.นี้รับทั้งวอล์กอินและให้ลงทะเบียนผ่าน 4 ค่ายมือถือ

อีกไม่กี่วันไทยอาจประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) เป็นโรคประจำถิ่น แต่เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ (RT-PCR) 2,508 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,883 คน อยู่ระหว่างรักษา 24,723 คน อาการหนัก 675 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 290 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 10 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 คน มีโรคเรื้อรัง 3 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,527,342 คน หายป่วยสะสม 4,472,373 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,681 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เพิ่ม 81,656 โดส จำแนกเป็นเข็มแรก 7,271 คน เข็มสอง 16,646 คน และเข็มสามขึ้นไป 57,739 คน

ส่วนความคืบหน้าอาการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังกลับจากปฏิบัติภารกิจในยุโรป เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.เป็นต้นมา และล่าสุด นายอนุทินโชว์ภาพผลตรวจ ATK วันที่ 1 ก.ค.65 เวลา 14.10 น. และเวลา 14.15 น. ในการตรวจซ้ำ 2 ครั้ง ผลตรวจปรากฏว่าขึ้นเพียง 1 ขีด และเปิดเผยสั้นๆว่า จะไปทำงานในวันที่ 4 ก.ค.นี้

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ถึงสถานการณ์การระบาดในประเทศ ไทยว่า จากข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตของไทยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม สถานการณ์จริงรอบตัวเราพบเห็นชัดเจนว่าเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากมาย ทั้งก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษา ที่ทำงานอื่นๆ รวมถึงครอบครัว และหมู่เพื่อนฝูง การขาด “คันฉ่องส่องสถานการณ์” หรือมีแต่คันฉ่องฝุ่นจับและบิดเบี้ยว จนสะท้อนให้เห็นอะไรไม่ได้ ก็จะทำให้ยากที่จะทำให้คนในสังคมตระหนักรับรู้ รู้เท่าทันสถานการณ์ และจะส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองและคนใกล้ชิด เรื่องนี้สำคัญที่ทางองค์การอนามัยโลกพยายามเน้นย้ำตลอดมา ให้ทุกประเทศมีการดำเนินระบบเฝ้าระวังที่เข้มข้น มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การติดตามสถานการณ์ ทำการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องและมากพอ รวมถึงการรายงานข้อมูล

รศ.นพ.ธีระระบุต่อว่า ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ที่ประเมินผลตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 30 เม.ย.2565 ชี้ให้เห็นว่า 1.กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หากติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 (เข็มสี่) ถึง 42 เท่า 2.กลุ่มคนที่ได้วัคซีนจนถึงเข็มสาม หากติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มคนที่ได้วัคซีนเข็มสี่ ถึง 4 เท่า ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะการระบาดในปัจจุบัน รุนแรงมากขึ้นในกว่าร้อยประเทศทั่วโลก และเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5 ที่มีการแพร่เร็วขึ้น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน จากการติดเชื้อมาก่อน และดื้อต่อยาแอนติบอดีที่ใช้รักษาหลายชนิด

“เข็มกระตุ้นครั้งที่ 1 หรือเข็มสามนั้น ควรได้รับทุกคน ในขณะที่เข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือเข็มสี่นั้น คนที่ควรไปรับ ได้แก่ คนสูงอายุ คนที่มีโรค ประจำตัวต่างๆ รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงสูงในชีวิต ประจำวัน เช่น มีอาชีพที่ต้องบริการ ดูแล พบปะคนจำนวนมาก เหนืออื่นใด การฉีดวัคซีนนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็จะติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อการเป็นลองโควิดด้วย ติดเชื้อซ้ำจะมีโอกาสป่วยรุนแรงมากขึ้น 3 เท่า และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น 2 เท่า “การใส่หน้ากากเสมอ” ระหว่างที่ออกมาตะลอนนอกบ้าน ใช้ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก ขอย้ำว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การใส่หน้ากาก เป็นเรื่องจำเป็น” รศ.นพ.ธีระระบุ

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา จุฬาฯ ร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ศึกษาการกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Covovax หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยกันคือ Novavax ในสูตรต่างๆที่ใช้ในประเทศไทย จะเห็นว่า Covovax ใช้เป็นวัคซีนตัวกระตุ้นได้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาแล้ว 2 เข็ม ในโครงการนี้การกระตุ้นผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มมาแล้ว 2 ครั้ง กระตุ้นด้วยวัคซีน Covovax หลังเข็ม 2 ระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป จะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงมาก รองลงมาคือการฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา (SV-AZ) ระดับภูมิต้านทานสูงมากกว่าผู้ที่ได้รับไฟเซอร์-ไฟเซอร์ (PZ-PZ) และแอสตราเซเนกา-แอสตราเซเนกา (AZ-AZ)

ศ.นพ.ยงระบุต่อไปว่า รายงานนี้เป็นรายงานเบื้องต้น ในโครงการนี้เราไม่สามารถหากลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มที่เป็นซิโนแวค-ซิโนแวค (SV-SV) เพราะเราเลิกใช้มานานแล้ว ข้อมูลการศึกษาการใช้วัคซีนซับยูนิตมากระตุ้นวัคซีนเชื้อตายยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย ซิโนฟาร์มต้องการกระตุ้นเข็มสาม และไม่ต้องการฉีดวัคซีน mRNA การใช้วัคซีนซับยูนิต Covovax (ลิขสิทธิ์ Novavax) เป็นทางเลือกในการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ระดับภูมิต้านทานที่ดีมาก

ส่วนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ว่า มีประชาชนแห่เข้ามารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และต่อแถวกันยาวเหยียดล้นออกมาด้านนอกประตูทางเข้า โดยประชาชนจำนวนมากแสดงความประสงค์จะรับวัคซีนโมเดอร์นาเพราะได้รับข่าวว่าศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อจะฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวันสุดท้ายและศูนย์จะปิดจึงรีบมา

ต่อมา พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง และ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่าศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อยังไม่ปิดตัวแน่นอน ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาจะมีให้บริการประชาชนจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ขอการันตี เนื่องจากยังมีประชาชนมารับวัคซีนที่ศูนย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้มีประชาชนเข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างมาก เพราะเห็นว่าคนใกล้ตัวเริ่มติดโควิด-19 กัน และกลัวว่าจะติดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 และสาเหตุที่คนแห่มาที่ศูนย์วัคซีนกันมาก เพราะเราเปิดให้วอล์กอิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในสัปดาห์หน้าศูนย์จะเปิดให้ลงทะเบียนนัดหมายผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4 ค่ายอีกทางหนึ่ง ได้แก่ ทรู เอไอเอส ดีแทค และบริษัทโทรคมนาคม จำกัด ส่วนการวอล์กอินยังเปิดเหมือนเดิม

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “การท่องเที่ยวเมืองไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น” จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,177 คน โดยคิดอย่างไรกับมติผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เปิดสถานบันเทิงถึงตี 2 เปิดประเทศเต็มรูปแบบ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 71.8 คิดว่าจะเกิดผลดี ในจำนวนนี้ร้อยละ 49.9 เห็นว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 48.5 เห็นว่าน่าจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และร้อยละ 41.6 เห็นว่าจะทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตแบบปกติ ขณะที่ร้อยละ 28.2 คิดว่าจะเกิดผลเสีย กลัวว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ขณะที่มีถึงร้อยละ 72.0 เห็นว่ามติผ่อนคลายจะทำให้คนอยากออกมาท่องเที่ยวค่อนข้างมากถึงมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 28.0 เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนการใส่หน้ากากอนามัย หลังมีมติให้สวมหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ พบว่าร้อยละ 92.8 จะปฏิบัติตัวเหมือนเดิมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง มีเพียงร้อยละ 7.2 ที่คิดว่าจะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว เพราะการแพร่ระบาดลดลง

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.4 เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนออกมาท่องเที่ยวได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.6 เห็นว่าจะช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และปัจจัยที่คิดว่าจะทำให้คนไม่ค่อยอยากออกมาท่องเที่ยว พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.4 เห็นว่าเป็นเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพง รองลงมา ร้อยละ 75.3 ไม่มีเงินที่จะไปท่องเที่ยว และร้อยละ 63.0 ปัญหาสินค้าราคาแพง

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในต่างประเทศ วันเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกิน 3 ล้านคน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนกว่าร้อยละ 30 โดยการติดเชื้อระลอกล่าสุดมาจากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA. 5 มีแนวโน้มผู้ป่วยมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่มีความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน ขณะที่แพทย์ยังแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน ด้านสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา ประกาศคลายกฎการเดินทางสำหรับพลเมืองสหรัฐฯ ที่ต้องการเดินทางมายังจีนเพื่อผ่านไปยังประเทศที่ 3 ผู้เดินทางที่มีผลตรวจเชื้อเป็นลบ สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับรหัสสุขภาพสีเขียวสำหรับการเดินทางได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการผ่อนคลายกฎอันเข้มงวดของรัฐบาลจีน

ขณะที่องค์การอนามัยโลกเตือนหน่วยงานสาธารณสุขของยุโรปให้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในยุโรปอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมียอดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้มียอดผู้ป่วย 6,157 คน จาก 67 ประเทศ และส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป 5,262 คน ด้านวารสารการแพทย์ เดอะ แลนเซต ยังระบุว่า อาการของฝีดาษลิง ของผู้ป่วยจำนวนมากในอังกฤษมีความแตกต่างจากการแพร่ระบาดในอดีตอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการไข้หรือเหนื่อยล้า แต่จะมีตุ่มแผลพุพองที่ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักมากกว่าที่พบตามปกติ จึงต้องระมัดระวังและตรวจสอบโรคด้วยความละเอียดอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนกับโรคอื่นๆ