“หมอธีระ” เตือน! อย่าเพิ่งชะล่าใจ “พิษโอมิครอน” แม้เป็นช่วงขาลงแต่ยอดป่วย-ตายยังสูง

“หมอธีระ” เตือนอย่าเพิ่งชะล่าใจโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4/BA.5 แม้ยอดคนติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วย ตายเป็นขาลง แต่ไทยติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 11 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ย้ำการใส่หน้ากากอนามัย เลี่ยงสถานที่แออัด สกัดโควิด-19 รวมถึงฝีดาษลิง ขณะที่ “อนุทิน” ให้ความหวัง หลัง ศบค.อนุญาตเปิดสถานบันเทิง 1 มิ.ย. เฉพาะพื้นที่สีฟ้า-เขียว 31 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีเหลืองจะพิจารณาลำดับต่อไป เพื่อให้การผ่อนคลายเกิดความปลอดภัยมากที่สุด

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,377 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,361 คน จากเรือนจำ 14 คน มาจากต่างประเทศ 2 คน จากการตรวจ ATK 6,637 คน หายป่วยเพิ่ม 5,775 คน อยู่ระหว่างรักษา 58,475 คน อาการหนัก 1,018 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 493 คน เสียชีวิตเพิ่ม 37 คน อายุ 18-99 ปี เป็นชาย 23 คน หญิง 14 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 31 คน มีโรคเรื้อรัง 6 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 4,406,755 คน ยอดหายป่วยสะสม 4,318,565 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 29,715 คน สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,898 คน สุรินทร์ 164 คน บุรีรัมย์ 159 คน ขอนแก่น 152 คน สมุทรปราการ 117 คน อุบลราชธานี 106 คน ชลบุรี 105 คน กาฬสินธุ์ 105 คน ร้อยเอ็ด 95 คน และนครศรีธรรมราช 89 คน ส่วนการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ฉีดได้เพิ่ม 201,748 โดส รวมฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 136,265,374 โดส

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดที่มากขึ้น เป็นผลอันเนื่องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้การเปิดสถานบันเทิงที่เป็นกิจการมีความเสี่ยงสูง สามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ แต่จะเริ่มในพื้นที่สีฟ้าและสีเขียวก่อนใน 31 จังหวัด ดังนั้น ระหว่างนี้ผู้ประกอบการต้องซักซ้อมแผนการป้องกันโรค ภาคประชาชนเองก็ต้องคำนึงเสมอว่าหากเราอยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608 ในบ้าน เราต้องสร้างความปลอดภัยให้ทุกคนด้วยการพากลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ส่วนพื้นที่สีเหลืองจะมีการพิจารณาในลำดับต่อไป ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ การผ่อนคลายเกิดความปลอดภัยมากที่สุด ให้เป็นการ เปิดกิจการที่มีความยั่งยืน อย่างที่ย้ำเสมอว่า กระทรวงสาธารณสุขอยากให้ทุกอย่างกลับมาสู่ปกติให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิต เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เมื่อวันที่ 20 พ.ค.จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ถึงแม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวันที่ 20 พ.ค.เป็นร้อยละ 19.9 ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

รศ.นพ.ธีระระบุอีกว่า อัปเดต 3 เรื่อง 1.เปรียบ เทียบอัตราการแพร่ระบาดของ BA.4/BA.5 รายงานจาก UK HSA ล่าสุดประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่เข้ามาระบาดในแต่ละประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.2 ว่ามีความรวดเร็วมากน้อยเพียงใดหากเทียบกับช่วงที่ BA.2 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ดั้ง เดิมอย่าง BA.1 ผลการประเมินพบว่าแต่ละประเทศมีลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ BA.4/BA.5 จะเข้าระบาดแทน BA.2 ได้เร็วมากขึ้นกว่าช่วง BA.2 เข้าแทน BA.1 สิ่งที่ควรทำ ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นว่า พฤติกรรมการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวันถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ BA.2 ทั่วโลกจะเป็นขาลง แต่มีโอกาสระบาดขยายวงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ หากประมาท

2.ภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ UK HSA Technical Briefing 3 วันที่ 19 พ.ค.2565 ที่ผ่านมาพบว่ายังมีจำนวนผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีภาวะตับอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะใน UK จนถึงปัจจุบันมีจำนวนเคสทั้งหมด 197 คน มีถึง 11 คน ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ การวิจัยยังไม่สามารถฟันธงถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่ปัจจุบันยังคงตั้งสมมติฐานหลายข้อ ทั้งในเรื่องการติดเชื้อ Adenovirus, ไวรัสโรค COVID-19, การติดเชื้อโรคอื่นๆ, การสัมผัสยาหรือสารพิษต่างๆ รวมถึงภาวะที่เป็น Long COVID (Post-infectious SARS-COV-2 syndrome) ผลการตรวจเรื่องยาและสารพิษต่างๆ ผลออกมายังไม่พบอะไรที่น่าสงสัย แนวโน้มปัจจุบันจึงมีหลายฝ่ายเชื่อในสมมติฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับภาวะที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และมีไวรัสติดเชื้อแฝงอย่างต่อเนื่องหรือมีชิ้นส่วนของไวรัสคงค้าง ทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซ้ำๆ และทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ตามมา (Superantigen- mediated immune-cell activation) โดยอาจมีการติดเชื้อไวรัสอื่นเข้ามา เช่น Adenovirus ก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ขึ้น สิ่งที่ควรทำ ด้วยข้อมูลขณะนี้ พ่อแม่และผู้ปกครองควรแนะนำลูกหลาน ฝึกทักษะที่จำเป็น เพื่อที่จะป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมจะดีที่สุด

3.ความรู้โดยย่อเกี่ยวกับฝีดาษลิง (Monkey pox) ถูกค้นพบลิงที่ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1958 พบคนที่ติดเชื้อครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา ดินแดนที่พบโรคชุกชุมคือแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) หากคนติดเชื้อแล้วจะแพร่ไปยังคนอื่นได้ โดยติดต่อทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งหรือสัมผัสแผลของผู้ป่วย รวมถึงจากการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวนาน (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงวันที่เกิดอาการป่วย) ราว 5-21 วัน ไวรัสประเภท poxvirus นี้ มีโอกาสน้อยที่จะแพร่ในช่วงที่ไม่มีอาการ

หากติดเชื้อฝีดาษลิงจนเกิดอาการป่วย ระยะเวลาที่เจ็บป่วยเฉลี่ย 2-4 สัปดาห์ ในช่วง 5 วันแรกหลังเริ่มเกิดอาการ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ทั้งนี้ จะปรากฏตุ่ม (vesicles) กระจายตามผิวหนังตั้งแต่ช่วง 1-3 วันที่เริ่มมีไข้ อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 1-10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัส การฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ (smallpox vaccine) ภายในระยะเวลา 3 ปี จะป้องกันไวรัสฝีดาษลิงได้โดยมีประสิทธิภาพราว 85 เปอร์เซ็นต์ ยารักษานั้นยังไม่มีใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ มีการวิจัยแล้วพบว่ายาต้านไวรัสชนิด ST-246 (tercovirimat) สามารถใช้รักษาโรคฝีดาษและฝีดาษลิงได้ วิธีป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงคือ การใส่หน้ากาก และการทำให้สถานที่ต่างๆ มีการถ่ายเท ระบายอากาศได้ดี แม้ตอนนี้ฝีดาษลิงระบาดในหลายประเทศ คนไทยควรติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และทางที่เราทำได้เอง และได้ผลดีในการป้องกันทั้งฝีดาษลิงและโควิด-19 คือการใส่หน้ากาก และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี

วันเดียวกัน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากคำสั่งศบค.เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทางบกผ่านจุดผ่านแดนถาวร และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด เห็นชอบให้จังหวัดอุบลราชธานี เปิดจุดผ่านแดนถาวร จำนวน 2 จุด ดังนั้น จังหวัดจึงกำหนดเปิดจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด คือ จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อ.สิรินธร และจุดผ่านแดนถาวร บ้านปากแซง อ.นาตาล โดยให้เป็นไปตามพิธีการตรวจคนเข้าเมือง พิธีการศุลกากร และคำสั่งที่ ศบค.ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในเกาหลีเหนือ มีรายงานผู้ป่วยจากอาการไข้สูงเพิ่มอีก 219,030 คน เป็นยอดผู้ป่วยรายวันเกิน 200,000 คนติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ทำให้ผู้ป่วยในประเทศรวมทั้งสิ้นราว 2,460,640 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตอีก 1 ศพ รวมเป็น 66 ศพ ด้านนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุด ยืนยันว่าทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันเดียวกันที่ฮ่องกงเริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 สำหรับประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับวัคซีนของซิโนแวคหรือไฟเซอร์-ไบออนเทค ส่วนญี่ปุ่นเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 4 แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปีที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงมีโรคประจำตัวอย่างเช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต และโรคอ้วน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. โดยจะใช้วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้วอย่างน้อย 5 เดือน