องค์การอนามัยโลก เปลี่ยนชื่อ “ฝีดาษลิง” เป็น “เอ็มพอกซ์” หลังถูกร้องเรียนว่า อาจสื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติ

องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าววานนี้ว่า จะเริ่มใช้ชื่อเรียก ฝีดาษลิง (monkeypox) ว่า “เอ็มพอกซ์” (mpox) พร้อมกับเรียกร้องให้เรียกชื่อนี้ตามองค์การอนามัยโลก หลังจากได้รับคำร้องเรียนว่า ชื่อเรียกฝีดาษลิง อาจสื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติ การถูกตีตรา หรือส่งผลกระทบในทางลบได้

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ชื่อฝีดาษลิงและเอ็มพอกซ์ จะยังคงใช้ไปพร้อมๆ กันเป็นเวลา 1 ปี ในขณะที่คำว่า ฝีดาษลิง จะค่อยๆ ยกเลิกการใช้ในที่สุด

ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศและหน่วยงานที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนชื่อ กล่าวแสดงความยินดีต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ จะใช้คำว่า “เอ็มพอกซ์” ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป

องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ฝีดาษลิง หรือ เอ็มพอกซ์ ถูกค้นพบเมื่อปี 1958 และได้รับการตั้งชื่อในปี 1970 หลังจากค้นพบไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคในลิงที่ถูกกักขัง แต่โรคฝีดาษลิงอาจไม่ได้เริ่มต้นในลิง และยังคงไม่ทราบที่มาของมัน ขณะที่ไวรัสดังกล่าวสามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด ชื่อนี้ตั้งขึ้นก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะเผยแพร่แนวปฏิบัติสำหรับการตั้งชื่อโรคในปี 2015

ส่วนใหญ่โรคนี้จะแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ก่อนที่จะระบาดไปยังทวีปอื่นๆ ในปีนี้ โดยมีประมาณ 100 ประเทศที่ไม่เคยเกิดการระบาดของเอ็มพอกซ์มาก่อน มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญมีความพยายามในการผลักดันตั้งแต่เริ่มการระบาดครั้งล่าสุด ให้มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติและการตีตรา ที่อาจทำให้ผู้คนปฏิเสธที่จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อและการฉีดวัคซีน

การถูกตีตราถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ ชี้ว่า คนผิวดำและคนเชื้อสายสเปนในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป

เมื่อเดือนสิงหาคม องค์การอนามัยโลกจัดกระบวนการหารือสาธารณะเพื่อหาชื่อเรียกใหม่ของฝีดาษลิง โดยให้เสนอชื่อไปยังเว็บไซต์ องค์การอนามัยโลกกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า กระบวนการหารือประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การจำแนกประเภท และสถิติ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลจาก 45 ประเทศ

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า คำว่า “ฝีดาษลิง” จะยังคงค้นหาได้ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Classification of Diseases) เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเดิมได้ และในระยะเวลาหนึ่งปีที่ยังคงมีการใช้ทั้งสองชื่อ จะถูกใช้ในการปรับปรุงเนื้อหาในสิ่งพิมพ์และการสื่อสาร

จนถึงขณะนี้ มีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง มากกว่า 81,000 ราย ใน 110 ประเทศ ไปยังองค์การอนามัยโลก ในการระบาดครั้งล่าสุด องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ความเสี่ยงทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับปานกลาง และนอกเหนือจากประเทศในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง การระบาดยังคงส่งผลกระทบต่อกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นหลัก.