อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือน! ระวัง “โรคไข้เลือดออกร่วมโควิด” แนะสังเกตอาการที่มีความต่าง หวั่นสูงวัย 2 ล้าน ไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม

ยอดผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตรายวันยังพุ่งไม่หยุด ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พบมีถึง 6 ล้านคน ฉีดครบสองเข็มเกิน 3 เดือนแล้วไม่มาซ้ำเข็มสาม เร่งรณรงค์พาผู้สูงวัยมาฉีดวัคซีนก่อนเข้าสงกรานต์ หวังเกิดภูมิคุ้มกันได้ทัน ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคเตือนระวังโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด แนะสังเกตอาการที่มีความต่าง ขณะที่ อาการป่วยโควิดเริ่มใกล้เคียงไข้หวัด หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือถ่ายเหลวให้ตรวจ ATK ทันที

ไทยยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ล่าสุดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก ทำให้พบผู้ติดเชื้อรายวันทั้งจากยอดยืนยันรวมตรวจ ATK ทะลุ 4-5 หมื่นคนมาตลอดเดือน มี.ค.และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,996 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24,792 คน มาจากเรือนจำ 173 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 คน ขณะที่ยอดตรวจ ATK 25,859 คน ทั้งนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในทุกจังหวัด โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,880 คน นครศรี ธรรมราช 1,637 คน ชลบุรี 1,191 คน สมุทรสาคร 969 คน สมุทรปราการ 907 คน ฉะเชิงเทรา 629 คน นครปฐม 587 คน สงขลา 572 คน ราชบุรี 571 คน บุรีรัมย์ 557 คน ขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 22,292 คน อยู่ระหว่างรักษา 240,139 คน อาการหนัก 1,432 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 521 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,353,969 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,089,584 คน ส่วนการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ฉีดได้เพิ่ม 221,662 โดส แยกเป็นเข็มแรก 80,434 คน เข็มสอง 19,935 คน และเข็มสามขึ้นไป 121,293 คน

ผู้สูงวัยตายต่อเนื่อง

สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 คน เป็นชาย 44 คน หญิง 40 คน ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 69 คน อายุน้อยสุดแค่ 1 ขวบ มีโรคเรื้อรัง 13 คน โดย กทม.ยังพบผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 14 ศพ ตามด้วยสมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และพัทลุง จังหวัดละ 5 ศพ โดยมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ โรคมะเร็ง โรคไต อ้วน หลอดเลือดสมอง หัวใจ และติดเตียง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,246 คน

ตายพุ่งจากไม่ฉีดเข็มกระตุ้น

ต่อมา นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่พบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่า วันที่ 20 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อ 24,996 คน เสียชีวิต 84 คน ยังเป็นตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตที่คาดการณ์ไว้ในฉากทัศน์ โดยจะมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มอาการสีเขียวจำนวนมาก ส่วนกลุ่มสีแดงหรือที่มีการเสียชีวิต แม้จะมีจำนวนมากก็อยู่ในกรอบการคาดการณ์เช่นกัน ส่วนสาเหตุผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนมากขึ้นนั้น พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว และไม่ได้มีการทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นการรับและติดเชื้อจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 เมื่อมีการเจ็บป่วยจึงทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต และกว่าจะมีอาการหนักหรือรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต ต้องนอนใน รพ.ไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์

สูงอายุ 2 ล้านคนยังไม่ฉีดสักเข็ม

นพ.โสภณกล่าวว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2565 พบว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุที่มารับเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ยังน้อยอยู่ มีแค่ 4.2 ล้านคนเท่านั้น จากจำนวนสัดส่วนของผู้สูงอายุที่รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 10 ล้านคน และพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ผ่านไปนานแล้วถึง 3 เดือน มีจำนวนถึง 6 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มเลยอีก 2.1 ล้านคน จึงอยากวิงวอนให้คนกลุ่มนี้มารับวัคซีน

ห่วงไข้เลือดออกร่วมโควิด

ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยปีที่แล้วมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 คน แต่ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้เพียงแค่ 3 เดือน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน โดยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 และยังพบอีกว่าทั้ง 3 ราย ที่เสียชีวิตนั้น ได้รับยาจากร้านยาบ้างซื้อยากินเองบ้าง เป็นยากลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด หรือเดิมคือ แอสไพริน ยาทันใจ ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร และเสียชีวิตได้ ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไปสนใจที่โรคโควิด-19 มากจนละเลยว่ามีโรคไข้เลือดออกอยู่ ทั้งๆที่อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 โรคนี้ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ไข้เลือดออกสามารถรักษาให้หายได้ โดยจะมีลักษณะอาการของโรคที่ต่างกัน เช่น ไข้เลือด ออกจะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง มีจุดแดงขึ้นตามลำตัว แขนและขา ส่วนโรคโควิด-19 จะมีอาการไข้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ได้กลิ่นลดลง

อาการเริ่มใกล้เคียงหวัด

ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นอาการของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันว่า ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ราวร้อยละ 50 ไม่มีอาการป่วย ส่วนที่มีอาการร้อยละ 50 จำแนกอาการย่อยได้คือ ไอและเจ็บคอ ร้อยละ 50 อ่อนเพลีย เป็นไข้ ร้อยละ 30-40 และถ่ายเหลว ร้อยละ 10 ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนๆกัน ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก สิ่งสำคัญป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

เร่งทุกจังหวัดฉีดเข็มกระตุ้น

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มสองในสัดส่วนที่สูงตามเป้าหมาย แต่เข็มกระตุ้นยังฉีดได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยตามนโยบาย “SAVE 608 by Booster Dose” โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากลูกหลานมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่จำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว จึงต้องสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและทำตัวเองให้ปราศจากเชื้อ ก่อนเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน

ชู 6 กลยุทธ์เข้าถึงชาวบ้าน

นพ.สุเทพกล่าวว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดมีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนแล้ว และจากการลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม พบว่า ได้กำหนด 6 กลยุทธ์สำคัญทำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ได้เพิ่มขึ้น คือ 1.จัดทำรายชื่อเป็นรายบุคคล และการลงนามสามเส้า ระหว่างประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ทุกหมู่บ้าน จำนวน 1,934 หมู่บ้าน รวม 30 ชุมชน 2.มีการสรุปรายงานถึงนายอำเภอให้สั่งการหมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมจัดเตรียมผู้มารับการฉีดในพื้นที่ 3.มีระบบรายงานสรุปผลงานการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แบบรายหน่วย จำนวน 193 หน่วยฉีดในทุกวัน เรียงลำดับผลงานจากมาก-น้อย ทำให้ช่วยเร่งการดำเนินงานของแต่ละหน่วยเพิ่มขึ้น

ขยายผลมหาสารคามโมเดล

นพ.สุเทพกล่าวว่า 4.จัดแคมเปญที่เหมาะสมทุกเดือนและสื่อสารอย่างทั่วถึง เช่น เดือนมีนาคม เดือนแห่งพลัง อสม. โดยให้ อสม.ออกเคาะประตูบ้านชวนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตั้งเป้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ให้แล้วเสร็จก่อนวัน อสม.แห่งชาติ ส่วนช่วงใกล้สงกรานต์ จะมีแคมเปญมหาสงกรานต์ มหาสารคาม 2565 รณรงค์ให้ลูกหลานและผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อให้ลูกหลานกลับบ้านและผู้สูงอายุอยู่บ้านอย่างปลอดภัย เป็นต้น 5.มีระบบการเสริมพลังรายพื้นที่ 6.ระบบรางวัลสร้างขวัญกำลังใจระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และหน่วยฉีด แนวทางดังกล่าวของจังหวัดมหาสารคาม ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ได้ผลดี จังหวัดต่างๆสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของกลุ่ม 608 ให้ได้มากที่สุด

ศูนย์บางซื่อฯ ฉีดให้ตามใจชอบ

ส่วนการรณรงค์ฉีดวัคซีนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สถานีกลางบางซื่อ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ และ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.-6 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ สถานีกลางบางซื่อรณรงค์อย่างเข้มข้นเพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเตรียมวัคซีนไว้รองรับวันละ 10,000 โดส และเปิดวอล์กอินให้ทุกคนสามารถเข้ามาฉีดได้ตั้งแต่เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 พบว่าได้รับความสนใจจากลูกหลานพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนมากขึ้นพอสมควร อีกกลุ่มคือกลุ่มประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพฯ มาฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้กลับบ้านในช่วงสงกรานต์ และพบด้วยว่ามีผู้มาขอฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เฉลี่ยวันละประมาณ 500-1,000 คน จากการสอบถามสาเหตุที่ยอมออกมาฉีดเพราะเห็นว่า ช่วงนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอมิครอนติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และเมื่อเปิดวอล์กอิน ทำให้ลูกหลานสะดวกที่จะพาผู้สูงอายุมาฉีดวันเวลาใดก็ได้ รวมทั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเปิดให้ผู้รับวัคซีนเลือกชนิดฉีดวัคซีนได้ตามใจชอบ เช่น ฉีดไฟเซอร์ ทั้งเต็มโดส ครึ่งโดส ฉีดใต้ผิวหนัง ได้หมด เรียกว่าอยากได้อะไร เราจัดให้หมด

หวังให้ภูมิขึ้นทันรับสงกรานต์

“ขอเชิญชวนลูกหลานพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนในช่วงนี้ เพราะวัคซีนต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิคุ้มกัน หากฉีดช่วงนี้ภูมิจะขึ้นพอดีกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้สูงอายุจะได้พบลูกหลานได้อย่างปลอดภัย แต่ยังต้องยึดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง” พญ.มิ่งขวัญกล่าวและว่า ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จะมีการจัดสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จะแบ่งพื้นที่การจัดงานสัปดาห์หนังสือกับพื้นที่ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน มีการแยกประตูทางเข้าไม่ปะปนกัน หากคนที่มาเดินงานสัปดาห์หนังสือ สามารถวอล์กอินมาฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้เช่นกัน

โคราชเจอโควิดคร่าอีก 4 ศพ

ส่วนสถานการณ์ทั่วประเทศ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักพัน โดยที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,865 คน แยกเป็นตรวจแบบ RT-PCR 606 คน ตรวจ ATK 1,259 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 ศพ เป็นผู้สูงวัยทั้งหมด ได้แก่ หญิง อายุ 72 ปี ชาว ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว 2 เข็ม รายต่อมาเป็นชาย อายุ 60 ปี ชาว ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด ฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม แอสตราเซเนกา 2 เข็ม รวม 3 เข็ม รายที่สามเป็นชาย อายุ 87 ปี ชาว ต.บ้านเกาะ อ.เมืองนครราชสีมา ไม่ได้ฉีดวัคซีน และหญิง อายุ 68 ปี ชาว ต.ห้วยแถลง อ.ห้วยแถลง ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตราฯ

3 สัปดาห์ป่วยกว่า 2.6 หมื่นคน

ขณะที่ จ.อุบลราชธานี มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,132 คน แยกเป็นการตรวจแบบ RT-PCR 272 คน และตรวจ ATK 1,860 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นชาย อายุ 66 ปี ชาว ต.จิกเทิง อ.ตาลสุม ทั้งนี้ การระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจาก 6 คลัสเตอร์เดิม เช่น งานบุญ งานบวช งานศพ โรงเรียน ชุมชน และไม่ทราบสาเหตุ รวมติดเชื้อ 43 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในคลัสเตอร์มีจำนวน 2,089 คน และยังพบว่าจากวันที่ 26 ก.พ.-19 มี.ค.2565 จ.อุบลราชธานีมีผู้ติดเชื้อจากตลาด โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน งานบุญ/งานศพ จำนวน 26,578 คน พบมาก 5 อันดับใน อ.วารินชำราบ 5,252 คน อ.เมืองอุบลฯ 3,493 คน อ.เดชอุดม 2,751 คน อ.พิบูลมังสาหาร 1,594 คน และ อ.น้ำยืน 1,514 คน

โควิดทำสถานพินิจสกลฯอ่วม

ขณะที่นางภัทรวดี เอี่ยมประเสริฐ กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ได้รับแจ้งจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสกลนคร ว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความควบคุม จำนวน 45 คน ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 21 คน มีกลุ่มเสี่ยงสูง 24 คน และมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กและเยาวชนติดเชื้อ 4 คน จากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 35 คน ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนมาก จึงต้องการความช่วยเหลือในเรื่องน้ำดื่ม อาหาร ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสด หรืองบประมาณในการจัดซื้อข้าวปลาอาหารตามความจำเป็นให้แก่เด็กและเยาวชนทั้ง 45 คน ที่อยู่ในความควบคุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กและเยาวชนในสถานที่ควบคุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่พักรักษาตัวที่บ้านพัก และเจ้าหน้าที่ทีมสำรองที่คอยผลัดเปลี่ยนเวรช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชนในสถานที่ควบคุมตลอด 24 ชั่วโมงด้วย เบื้องต้นมีภาครัฐและเอกชนยื่นมือเข้าช่วยเหลือบางส่วนแล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอ หากท่านที่มีจิตกุศลต้องการช่วยเหลือ ติดต่อโทรศัพท์หมายเลข 09-5324-7147