อัปเดต! 5 พิกัดสถานที่ลอยกระทงยอดนิยมปี 2022 เดินทางสะดวกติด BTS ใกล้ MRT

“วันลอยกระทง” อีกหนึ่งเทศกาลงานสำคัญที่คนไทยจะได้มีโอกาสทำกิจกรรมกับเพื่อนและคนในครอบครัว หรือหากอิงตามความเชื่อแต่นมนาน ประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นเพื่อขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคงที่ให้มนุษย์ได้ใช้อาศัยดื่มกิน และการลอยกระทงยังถือเป็นการลอยทุกข์ ปลดโศก ทิ้งโรคภัยให้ออกไปพร้อมกับกระทงพร้อมรับแต่สิ่งมงคลเข้ามาในชีวิต

โดยปีนี้ลอยกระทงตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน ใครที่กังวลว่าจะเดินทางไปลอยกระทงลำบากเพราะดันตรงกับวันธรรมดา รถก็ติด เรียกรถก็ยาก เรามี 5 พิกัดสถานที่ลอยกระทงยอดนิยมปี 2022 เดินทางสะดวกไป BTS หรือ MRT ก็ง่ายมาบอก

ICONSIAM
การเดินทาง
: รถยนต์ รถประจำทาง เรือโดยสาร
หรือ BTS สายสีทอง สถานีเจริญนคร

ปักหมุดที่แรกก็ต้องยกให้กับวิวโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง ‘ไอคอนสยาม’ แลนด์มาร์คระดับโลกของกรุงเทพฯ ที่คนไทยไม่ควรพลาด เพราะต่างชาติยังต้องมาเยือน นอกจากความงดงามของวิวหลักล้านที่หาจากมุมเมืองไหนในกรุงเทพฯ ไม่ได้แล้ว ยังเชื่อว่าหมุดหมายนี้เป็นโค้งน้ำมงคลซึ่งเป็นท้องมังกรอันยิ่งใหญ่ มีแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถือเป็นสายน้ำแห่งแผ่นดินโอบล้อมเปรียบได้กับพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และร่ำรวย จึงเป็นจุดมงคลที่ช่วยเสริมความเจริญให้กับชีวิต ที่สำคัญ ทุกปี ‘ไอคอนสยาม’ จะจัดเตรียมกิจกรรมสนุกๆ ตกแต่งบริเวณโดยรอบด้วยไฟสวยๆ และโปรโมชั่นดีๆ จากร้านอาหารที่พร้อมใจกันมอบความสุขให้กับคนไทยและยังขยายเวลาความสุขเปิดให้บริการออกไปจนถึง 23.00 น. นอกจากนี้ทางไอคอนสยามอนุญาตให้มีการจำหน่ายเฉพาะกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเท่านั้น รวมถึงเตรียมความพร้อมที่จะเก็บกระทงทันทีหลังจบงานอีกด้วย สามารถลอยกันได้อย่างสบายใจ เลือกลอยได้ 2 จุดที่จัดไว้ให้ คือ 1. รางปล่อยกระทงบริเวณ ริเวอร์ พาร์ค 2. คลองจำลองในเมืองสุขสยาม แนะนำให้แต่งชุดไทยไปลอยกระทงรับรองได้รับทั้งความมงคลชีวิตและคอนเทนต์เริ่ดๆ ไว้โพสต์ลงโซเชียลแน่นอน

ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง
การเดินทาง: MRT สถานีสามยอด

แลนด์มาร์กใหม่ของคนเมืองและปีนี่ยังได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดงานหลักของ กทม. อีกด้วย โดยปีนี้ได้ขยายพื้นที่จัดงานตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข สะพานโอสถานนท์ จนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ชมแม่น้ำเจ้าพระยาในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง ตลอดสองข้างทางยังมีร้านขายของ ร้านอาหาร และจุดแวะพัก ซึ่งทาง กทม. บอกว่า ปีนี้จะเน้นเรื่องความปลอดภัยของคนที่มาลอยกระทงมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
การเดินทาง:
 BTS สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถึงคิวชาวบางเขนและหมู่มวลโซนพหลโยธิน หรือใครก็ตามที่เคยอยากมาเดินชมงานลอยกระทงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งเขาจัดทุกปีแต่ไม่มีโอกาส ตอนนี้ BTS จอดหน้ามหาลัยฯ แล้วจ้า โดยปีนี้ก็ยังจัดเต็มเหมือนทุกปีแต่เปลี่ยนจากการประกวดนางนพมาศมาเป็นการประกวดชุดไทยสมัยใหม่ ส่วนไฮไลท์ห้ามพลาดคือ Floating Market เดินหาของกินให้จุใจหลังปัดเป่าความทุกข์โศกให้ลอยไปกับกระทงที่สระพระพิรุณ 

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
การเดินทาง: BTS หมอชิต / MRT จตุจักร

1 ใน 30 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่กรุงเทพมหานครเปิดให้มีการจัดกิจกรรมลอยกระทงทุกปี และเป็นสถานที่ที่ใครๆ ก็นึกถึง เพราะนอกจากการเดินทางจะสะดวก รถไฟฟ้าก็ได้หรือรถใต้ดินก็ถึง บริเวณบึงน้ำใหญ่หรือท่าเรือยังกว้างขวางสามารถลอยกระทงได้ตลอดทั้งแนว และด้วยบรรยากาศสวนสาธารณะที่ร่มรื่น จึงเหมาะกับคนที่อยากสัมผัสบรรยากาศชิลๆ ลอยกระทงเสร็จจะเดินเล่มสูดโอโซนจากต้นไม้น้อยใหญ่ก่อนกลับก็ยังได้ ใครมีเวลาแนะนำให้มาก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เช่าจักรยานปั่นเพลินๆ แล้วค่อยลอยกระทงก็ดีเหมือนกันนะ

สวนเบญจกิติ
การเดินทาง: MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หมุดหมายสุดท้ายของย้ายเข้าไปในเมืองใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั่นก็คือ สวนเบญจกิติ อีกหนึ่งจุดลอยกระทงยอดฮิตของคนเมืองเลยก็ว่าได้ บรรยากาศร่มรื่นขึ้นจากสถานีรถไฟใต้ดินเดินไม่ทันเหนื่อยก็ถึงแล้ว สามารถไปลอยกระทงได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ เสร็จแล้วอย่าลืมไปเดินชมสวนป่าเบญจกิติ สวนแห่งใหม่พื้นที่กว่า 300 ไร่ ของชาวกรุงเทพฯ จุดเด่นอยู่ที่ บึงน้ำขนาดใหญ่ถึง 4 บึง มีทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินลอยฟ้า และทางเดินด้านล่างรอบสวนให้ได้ถ่ายรูปดอกไม้ ส่องนกกันได้อย่างเพลิดเพลิน รวมทั้งลานกิจกรรม พื้นที่นั่งหย่อนใจที่กระจายตามมุมต่างๆ

และไม่ว่าจะเลือกปักหมุดลอยกระทงที่ไหน อย่าลืมช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติกันด้วยล่ะ