อินเดีย มั่นใจสู้เดลตาได้ วัคซีนโควิดDNA ตัวแรกของโลก

อินเดียอนุมัติวัคซีนโควิดDNA –BCC รายงานว่า องค์การดูแลกำกับด้านยาของประเทศอินเดีย อนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีฉุกเฉิน ชื่อ วัคซีน ไซคอฟ–ดี (ZyCoV-D) แบบฉีด 3 โดส พัฒนาจากเทคโนโลยีดีเอ็นเอ เป็นชนิดแรกในโลก โดยบริษัท ไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) ผู้ผลิตยาสัญชาติอินเดีย

วัคซีนที่พัฒนาจากดีเอ็นเอชนิดนี้ ใช้วงแหวนเกลียวดีเอ็นเอ ซึ่งมีสารพันธุกรรมเช่นเดียวกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับไวรัส

ผลการศึกษาของบริษัทคาดิเลีย เฮลท์แคร์ ผู้ผลิตพบว่า วัคซีนไซดัสจำนวน 3 โดสช่วยป้องกันโรคได้ร้อยละ 66 ทางบริษัทวางแผนจะผลิต 120 ล้านโดสต่อปี

การอนุมัติวัคซีนนับเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดที่ 2 ที่อินเดียผลิตเอง ทางบริษัทระบุว่า ผ่านการทดลองเชิงคลินิกในอาสาสมัคร 28,000 คนมากกว่า 50 ศูนย์ในช่วงที่ประเทศอินเดียเผชิญการระบาดระลอกสอง

ผลการทดสอบพบว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพขั้นต้นสูงถึงร้อยละ 66.6 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีผลตรวจโรคแบบเรียลไทม์พีซีอาร์ (RT-PCR) เป็นบวก

นอกจากนี้ยังนับเป็นครั้งแรกด้วยที่ทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ในคนหนุ่มสาวในประเทศอินเดีย จำนวน 1,000 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี พบว่า ปลอดภัย

ผู้พัฒนาระบุว่า วัคซีนไซดัสมีประสิทธิในการต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้ง่าย ด้วย เทคโนโลยีพลาสมิดดีเอ็นเอ (plasmid DNA) ปรับเข้ากับเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่อุบัติขึ้นแล้วได้อย่างง่ายดาย

วัคซีนไซคอฟ–ดี พัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับสำนักเทคโนโลยีชีวภาพ และดำเนินการโดยสภาความช่วยเหลือเพื่อการวิจัยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

เมื่อฉีดวัคซีนแบบ 3 โดสเข้าสู่ร่างกาย จะมีการผลิตโปรตีนหนามของเชื้อไวรัส และการกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคโควิด-19 และกำจัดเชื้อไวรัส