เจอแล้ว! ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงชาวไนจีเรีย โผล่กรุงพนมเปญ จนท.ล็อกตัว เตรียมประสานทีมแพทย์เข้าดูแล

เจอแล้วชายชาวไนจีเรีย ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย โผล่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เจ้าหน้าที่ล็อกตัว เตรียมประสานทีมแพทย์เข้าดูแล ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้พฤติกรรมไม่น่าใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา พบให้ข้อมูลเข้าไทยมาเรียนภาษาที่เชียงใหม่ แต่ไม่พบการเข้าเรียน หนำซ้ำมีคนช่วยเหลือหลบหนี ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูง 19 คน ไม่ป่วยเพิ่ม ที่เหลืออีกกว่าร้อยคนรอสังเกตอาการจนครบ 21 วัน พร้อมยกระดับเฝ้าระวังเพิ่มในผู้ป่วยต่างชาติทั้งใน จ.ภูเก็ตและจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ค้นหาเชิงรุกต่อเนื่องจากผู้ป่วยโรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งสุ่มตรวจและซักประวัติย้อนหลังตั้งแต่ 1 มิ.ย.ถึงปัจจุบัน ส่วนโควิดไทยพบผู้ป่วยอาการหนัก-เสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพบภาวะมิส-ซีในเด็กหลังติดโควิดกว่าร้อยคน

ต้องติดตามต่อเนื่องกรณีนักท่องเที่ยวชาวไนจีเรีย วัย 27 ปี ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย ขณะอยู่ใน จ.ภูเก็ต และหลบหนีการรักษา ที่มีข่าวหนีออกนอกประเทศแล้ว โดยเมื่อเวลา 08.45 น.วันที่ 23 ก.ค. ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า เดินทางออกนอกประเทศ แล้ว ส่วนรายละเอียดขอให้สอบถามทางตำรวจ ส่วนการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ กรมควบคุมโรครายงานมาเมื่อช่วงเช้า ยังไม่พบมีใครติดเชื้อเพิ่มเติม และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวังคัดกรองอยู่ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย หากไม่ไปในที่อโคจรก็ไม่ต้องกังวล การอยู่ในที่คนเยอะไม่ใช่ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิง แต่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดมากกว่า

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าโรคฝีดาษลิงว่า ไทยถือเป็นประเทศที่ 66 ที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง และขณะนี้องค์การอนามัยโลกประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษลิงแล้ว เห็นว่ายังไม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะความรุนแรงและการระบาดไม่มาก การระบาดมา 2 เดือน พบผู้ป่วยทั่วโลก 14,000 กว่าคนเท่านั้น ส่วนใหญ่หายได้เอง การเสียชีวิตมีน้อยมาก ส่วนชายชาวไนจีเรียที่ตรวจพบเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยนั้น เดินทางมาจากเมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการเข้าประเทศว่าจะมาเรียนภาษาที่ จ.เชียงใหม่ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลการทำกิจกรรมหรือเรียน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมทั้งมีพฤติกรรมหลบหนี ล่าสุด ทราบว่า พบสัญญาณมือถือที่จังหวัดชายแดน ดังนั้นนักท่องเที่ยวรายนี้ น่าจะไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือในการหลบหนี รายละเอียดต่อไปต้องขอให้ตำรวจเป็นผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะต้องใช้กฎหมายอื่นมาร่วมด้วย และข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ เข้าใจว่าอาจหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ เราได้ขอความร่วมมือไปที่กระทรวงการต่างประเทศ ประสานไปยังกัมพูชาแล้ว และประสานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดบันเตียเมียนเจย ให้ติดตามผู้ติดเชื้อแล้วเช่นกัน

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า ส่วนการค้นหา ผู้ป่วยเพิ่มเติมเชิงรุกในสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ จำนวน 142 คน พบผู้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดตามตัว 6 คน ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยส่งเชื้อตรวจ 5 คน ไม่พบเชื้อ ไม่มีตุ่มขึ้น ทั้งหมดต้องติดตามอาการจนครบ 21 วัน ส่วนอีก 1 คนเดินทางไปต่างประเทศแล้ว นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องค้นหาเชิงรุกต่อเนื่องจากผู้ป่วยโรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มารับบริการในโรงพยาบาล ให้สุ่มตรวจและซักประวัติย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ถึงปัจจุบันว่ามีคนไข้รายใดที่มีผื่นขึ้น หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลและเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ เบื้องต้นจำนวน 183 คน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดเป็นผู้สัมผัส แต่เป็นมาตรการเชิงรุก ตรวจสอบย้อนหลังเพื่อหาอาการที่เข้ากันได้กับโรค เพื่อค้นหาผู้ป่วยให้พบได้มากที่สุด

ส่วนการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า ที่ได้ข้อมูลทั้งหมด 33 คน ไม่มีอาการป่วย โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 คน ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในที่พักเดียวกับผู้ป่วย สถานพยาบาล ยานพาหนะ ชุมชน โรงแรม ร้านต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และการตรวจในห้องปฏิบัติการก็ไม่พบเชื้อ ส่วนที่เหลืออีก 14 คนไม่มีความเสี่ยง แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การสังเกตอาการของเจ้าหน้าที่จนครบ 21 วัน นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังได้ยกระดับการเฝ้าระวังเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่งตรวจหาเชื้อชาวต่างชาติในสถานพยาบาล ในคลินิกสุขภาพทางเพศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อธิบดีกรมควบคุมโรคยังกล่าวยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ หากพบผู้ป่วยต่างชาติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษา ไม่ควรหลบหนี เพื่อลดการแพร่โรคให้ผู้อื่น และการหลบหนียังเป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนที่กังวลกรณีปัสสาวะกระเด็นใส่ หรือเดินเฉียดผู้ป่วยนั้น ไม่ติดโรคนี้ได้ง่ายๆ เชื้ออยู่ตามตุ่มตามหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิด ติดยากกว่าโรคเอดส์ ซึ่งตุ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จะแห้งแล้วหายไป ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงไม่มาก กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และสายพันธุ์แอฟริกากลาง ส่วนใหญ่ระบาดที่แอฟริกา ความรุนแรงจะมากกว่า การระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีสายพันธุ์ย่อยคือ A และ B ที่ระบาดในยุโรปขณะนี้คือ B.1 ส่วนผู้ป่วยชาวไนจีเรียเป็นสายพันธุ์ A.2 ซึ่งสัมพันธ์กับสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อจากอเมริกาหรือจากไหน หากจะได้ข้อมูลแน่ชัดต้องพบตัวและสอบถามประวัติอีกครั้ง แต่เนื่องจากไม่เจอตัวชายคนดังกล่าว ประวัติชัดๆก็ไม่มี เป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา บางข่าวบอกว่ามีการเดินทางเข้าๆออกๆ

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสงสัยกรณีชายชาวไนจีเรียเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงคนแรกของไทยจริงหรือไม่ หรือติดเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่นในประเทศ เนื่องจากชาวไนจีเรียคนดังกล่าวเดินทางเข้าไทยตั้งแต่ พ.ย.2564 ว่าการยืนยันผลการติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ นับว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงชาวไนจีเรียเป็นรายแรกในประเทศไทย ส่วนที่อาศัยในไทยมานานแล้ว ด้วยความที่โรคฝีดาษลิงเป็นโรคใหม่ ความรุนแรงยังไม่มาก ยังไม่รู้ว่าการติดเชื้อในร่างกายจะอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วแสดงอาการออกมาในช่วงที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายตกลงหรือไม่ ต้องมีการติดตามข้อมูลส่วนนี้ต่อไป

อีกด้านหนึ่งที่ จ.สระแก้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้า พล.ต.ต.ณัฐพงษ์ สัตยานุรักษ์ ผบก.ภ.จ.สระแก้ว สั่งการให้ กก.สส.ภ.จ.สระแก้ว เร่งตรวจสอบหาเบาะแสชาวไนจีเรียดังกล่าว หลังจากมีรายงานว่าเมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. เวลาประมาณ 22.00 น. จนท.สามารถจับสัญญาณโทรศัพท์ของชาวไนจีเรียคนดังกล่าว อยู่บริเวณชายแดนบ้านทับพริก ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ ซึ่งมีช่องทางธรรมชาติในการลักลอบข้ามแดน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดต่อกับ อ.คลองหาด จากนั้นสัญญาณขาดหายไป จึงคาดว่าชาวไนจีเรียคนดังกล่าวอาจลักลอบออกไปกัมพูชาตามช่องทางธรรมชาติแล้ว
ต่อมาช่วงค่ำวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว ว่าได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการกรุงปอยเปต ประเทศกัมพูชาว่า เจ้าหน้าที่กัมพูชาสามารถควบคุมตัวชาวไนจีเรียที่เป็นโรคฝีดาษลิงได้แล้ว ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เบื้องต้น แจ้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไว้ก่อน และอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์แล้ว ได้รายงานให้ ผวจ.สระแก้ว ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน อาจมีการส่งทีมแพทย์ไทยไปร่วมสอบสวนโรคกับทีมแพทย์กัมพูชา เพื่อหาไทม์ไลน์การเดินทางของชาวไนจีเรียคนดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลมาป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในไทย

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ได้รับรายงานจากสถานทูตไทยที่พนมเปญว่า ฝ่ายกัมพูชาจับกุมชายชาวไนจีเรีย ติดเชื้อฝีดาษลิง และหลบหนีออกจากไทยได้แล้ว ที่ย่านพสาร์เดิมทโกว จ็อมกามอน กรุงพนมเปญ เมื่อช่วงค่ำ และถูกส่งตัวไปยังสถาบันของกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาเพื่อกักโรคต่อไป

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาตัวใน รพ. 2,578 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 คน หายป่วยเพิ่ม 1,877 คน อยู่ระหว่างรักษา 24,700 คน อาการหนัก 886 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 412 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 คน ขณะที่ใน กทม.พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,582 คน เป็นป่วยใน กทม. 1,269 คน และป่วยอยู่ต่างจังหวัดเข้ามารักษาใน กทม.313 คน ส่วน 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ 1.ราชเทวี 194 คน 2.หนองแขม 106 คน 3.บางแค 100 คน 4.บางกอกน้อย 64 คน 5.ดินแดง 45 คน 6.พญาไท 40 คน 7.ภาษีเจริญ 38 คน 8.ธนบุรี 35 คน 9.จตุจักร 33 คน และ 10.ทวีวัฒนา 32 คน

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงภาวะมิส-ซี (MIS-C) ที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด-19 ว่าสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด-19 ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย MIS-C กว่า 100 คน ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้มกัน

ขณะที่ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก กล่าวว่าที่สถาบันฯ พบผู้ป่วย MIS-C 51 คนอายุตั้งแต่ 9 เดือน-11 ปี ผู้ป่วยมักมาด้วยไข้ ผื่น และอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีภาวะช็อก จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ บางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90 และที่ รพ.พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 คน ดังนั้นการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้

วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (CDC) แถลงพบการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในเด็กเป็นครั้งแรกของประเทศ เป็นเด็กวัยหัดเดินในแคลิฟอร์เนียและทารกที่ไม่ได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ และยืนยันว่าทั้งสองรายไม่เกี่ยวข้องกันและน่าจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อภายในครอบครัว ขณะนี้เด็กทั้ง 2 คน แข็งแรงดีและอยู่ในระหว่างการรักษา ทั้งนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในสหรัฐฯ ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 2,891 ราย โดยร้อยละ 99 ของผู้ป่วยเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่มีผู้หญิงและชายข้ามเพศจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อด้วย ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กระจายวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง “จินนิออส” จากบริษัทบาวาเรียน นอร์ดิก ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติเดนมาร์ก แล้ว 300,000 โดส และกำลังเร่งขนส่งจากเดนมาร์กอีก 786,000 โดส