เช็กอาการ!! “เบาหวานขึ้นตา” ภาวะแทรกซ้อนอันดับ 1 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

  • ทุกๆ ปี ประเทศไทย จะมีผู้เสียชีวิตจาก “โรคเบาหวาน” สูงเฉลี่ยถึงปีละ 8,000 คน โดยผู้ที่ป่วยกลุ่มดังกล่าวยังพบการแทรกซ้อนของโรคอื่นตามอีกมากมาย หนึ่งในนั้น คือ “เบาหวานขึ้นตา”
  • ผู้ป่วยเบาหวาน นานกว่า 10 ปี เสี่ยงเป็น “เบาหวานขึ้นตา” มากกว่า 80% หากไม่รักษาให้ถูกต้องและทันท่วงที สุดท้ายก็จะสูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต
  • เช็กปัจจัยเสี่ยง อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยเบาหวาน และวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

จากสถิติผู้ป่วยในประเทศไทย พบมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน เฉลี่ยปีละ 8,000 คน ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังพบว่า คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยง เป็นเบาหวานสูงเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

แน่นอนว่า การที่ร่างกายไม่สามารถคุมเบาหวานได้ ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อีกทั้งยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกี่ยวกับร่างกายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอาการ “เบาหวานขึ้นตา” จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตราย อันดับ 1 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ทำความรู้จักโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติ โดยเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อน ส่วนเบตาเซลล์ผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน จากตับอ่อนลดลง 

ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับประทานน้ำตาลมากหรือน้อย แต่เกี่ยวกับการรับประทานไปแล้ว ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลได้ และในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการทำงานของหลอดเลือด ที่ผิดปกติ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ที่รุนแรงมากขึ้น โดยสามารถแบ่ง เบาหวานได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) เกิดจากการทำลายเบตาเซลล์ ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักมีอาการรวดเร็วและรุนแรง พบมากในเด็ก จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน
  • เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) พบได้มากที่สุด มากกว่า 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอาการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน
  • เบาหวานชนิดอื่นๆ (Other Specific Types Of Diabetes Mellitus) เป็นกลุ่มอาการเบาหวาน ที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่น เช่น โรคที่มีความผิดปกติของบริเวณตับอ่อน เบาหวาน ที่เกิดภายหลังการผ่าตัดตับอ่อน หรือเบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • เบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus) โรคเบาหวานชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายจะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ การมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ จะส่งผลเสียต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ โดยโรคเบาหวานชนิดนี้ ผู้เป็นจะไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์

ผู้ป่วยเบาหวาน นานกว่า 10 ปี เสี่ยงเป็น “เบาหวานขึ้นตา” มากกว่า 80%

ผู้ป่วยเบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี เป็นระยะเวลานาน อาจจะเกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็งเร็วขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับอวัยวะที่เส้นเลือดนั้นไปหล่อเลี้ยง กลายเป็นภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ ดวงตา ที่ผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มานานกว่า 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตา มากกว่า 80% 

โดยอาการ “เบาหวานขึ้นตา” เป็นโรคแทรกซ้อนอันดับหนึ่ง ที่เกิดจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ทำให้หลอดเลือดในจอประสาทตาเริ่มอักเสบ โป่งพอง มีเลือด และน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วๆ จอประสาทตา โดยจะแสดงอาการค่อยเป็นค่อยไป

ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และละเลยการตรวจสภาพตา ตามคำแนะนำของแพทย์ หากรั่วซึมถึงจุดศูนย์กลางของการรับภาพ อาจทำให้มีอาการตาพร่ามัว ยิ่งถ้าหลอดเลือด และพังผืดเกิดใหม่ยังมีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดง่าย จะเป็นตัวที่ยึดดึงจอประสาทตา ให้หลุดลอกออกมา และตาบอดสนิทในที่สุด

เช็กอาการ “เบาหวานขึ้นตา”

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความกังวล หรือไม่มั่นใจว่าตนเอง จะเป็นเบาหวานขึ้นตาหรือไม่นั้น สามารถเช็กความผิดปกติของร่างกายตนเอง ได้ดังนี้

  • ในระยะแรก อาจไม่แสดงอาการเด่นชัด ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ต่อมาจะเริ่มมีจุดเลือดออกในจอตา
  • ไขมันรั่วออกมาในจอตา ทำให้จอประสาทตาบวม
  • มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา
  • จอประสาทตาหลุดออก
  • มองเห็นผิดปกติ มองเห็นภาพบิดเบี้ยวไป
  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • ตามัวลง จนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

“เบาหวาน” สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ไตวาย” เรื้อรังระยะสุดท้าย

อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เส้นเลือดตีบแข็งเร็วขึ้น ส่งผลเสียกับอวัยวะต้องใช้เส้นเลือดหล่อเลี้ยง เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ดวงตาเท่านั้น เพราะยังส่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต หรือที่เรียกกันว่า “ไตวาย” 

จากรายงานพบว่า เบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญ ของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิด ที่ 2 ร้อยละ 20.0-40.0 จะมีโอกาสเกิดภาวะโรคไต เรื้อรัง และเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกจากนี้ ยังทำให้ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ทำให้ประสาทส่วนปลายเสื่อม และทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาท เส้นใดเส้นหนึ่งอีกด้วย

เช็กอาการเบื้องต้น สำหรับผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

สำหรับใครที่สงสัยว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน หรือเข้าข่ายเป็นหรือไม่ สามารถเช็กปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้จาก ภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน โดยสามารถดูได้จาก

  1. ดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI (Body Mass Index) เราสามารถคำนวณค่า BMI ดัชนีมวลกายได้โดยสูตร “น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เซนติเมตร)2”
    – ค่า BMI > 23 หมายถึง คุณมีน้ำหนักเกิน
    – ค่า BMI > 27.5 หมายถึง คุณอยู่ในภาวะอ้วน
  2. รอบเอว
    – ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า หรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร
    – ผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า หรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร

นอกจากนี้ ยังสามารถดูได้จาก กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัว หรือญาติเป็นโรคเบาหวาน ก็จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องอายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เป็นเพศชาย มีความดันโลหิตหรือมีน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน มากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

หรืออาจจะเช็กอาการของโรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรก ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก จะยังไม่มีการแสดงอาการใดๆ แต่หากมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก อาจมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ตาพร่ามัว ชาบริเวณมือเท้า แผลหายช้า หรือในบางกรณีอาจเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการเตือนใดๆ มาก่อน

การตรวจคัดกรองผู้ป่วย “โรคเบาหวาน”

หากคุณเช็กอาการของตนเอง และพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น แนะนำให้ไปทำการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่ โดยสามารถสรุปได้จากผลตรวจ ดังนี้

  1. ต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำ และอาหาร Fasting Blood Sugar (FBS) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL เกิน 2 ครั้ง บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
  2. ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าเวลาใด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 mg/dL บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
  3. อาการของโรคเบาหวาน เช่น มีน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ก็สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้เช่นกัน

วิธีรักษาโรคเบาหวาน 

อย่างไรก็ตาม หากท่านพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการรักษา โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ควบคุมอาหาร ควรงดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้รสหวานจัด ข้าว แป้ง ขนมปัง เป็นต้น โดยควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ ในแต่ละมื้ออาหาร อาจรับประทานคาร์โบไฮเดรต ที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ข้าวกล้องขนมปังโฮลวีท อาหารจำพวกผักและโปรตีน ชนิดไม่ติดมัน
  • ออกกำลังกาย ในปัจจุบัน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับ 50-70% ของชีพจรสูงสุด โดยสามารถคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดได้ง่ายๆ คือ 220 – อายุ (ปี) = อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (MHR)
  • การใช้ยา หากควบคุมอาหาร และออกกำลังกายแล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ แนะนำให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง โดยยารักษาเบาหวานมีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้ตับ หรือไต เสื่อมลง หากใช้ยาตามแพทย์สั่ง

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม หากปล่อยไว้นาน แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่มากๆ จะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือด เกิดภาวะอักเสบ และอุดตันง่ายกว่าคนปกติ ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย

ดังนั้น ทางที่ดีทุกคนควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้เป็นปกติอย่างต่อเนื่อง และควรตรวจสุขภาพประจำทุกปี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน จากโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นได้.