“เด็กปฐมวัย” ป่วยโควิด 13,444 คน ติดเชื้อ-ตาย “นิวไฮ”ผ่านไปแค่7เดือน

รัฐบาลเอาแน่ ขยายล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดงเข้มไปอีก 2 สัปดาห์ พร้อมเพิ่มพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ-อีสาน หลังยอดผู้ติดเชื้อ-ตายจากโควิด-19 พุ่งไม่หยุด รวมถึงเล็งเปลี่ยนแผนกระจายวัคซีนเทไปจังหวัดแพร่ระบาดหนัก ฉีดวัคซีนใน กทม.เป็นไปตามเป้า ยึดเกณฑ์กลุ่ม 608 แต่ไม่รวมกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ขณะที่ปีนี้แค่ 7 เดือน พบเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อ กว่า 1.3 หมื่นคน ด้านรองปลัด สธ.แจงเพิ่มการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อาจมีส่วนต่างจากคนที่ฉีดแอสตราฯไปก่อนหน้า ให้เกลี่ยไปกลุ่มเสี่ยงอื่น ส่วนโอกาสฉีดเป็นเข็มแรกให้พิจารณาเป็นรายไป

สัปดาห์นี้ไทยจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกาให้กลุ่มเป้าหมายหลักๆ คือการฉีดกระตุ้นภูมิหรือบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจมีส่วนต่างจากกลุ่มที่ฉีดด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยอดติดเชื้อโควิด-19 และตายรายวันยังพุ่งไม่หยุด

ติดเชื้อตายพุ่งปรี๊ด 178 ศพ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,912 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,092 คน จำแนกเป็นมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,342 คน มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 4,750 คน มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 810 คน และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 597,287 คน คน อยู่ระหว่างการรักษา 200,510 คน อาการหนัก 4,691 คน
ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,032 คน เสียชีวิตเพิ่ม 178 คน เป็นชาย 92 คน หญิง 86 คน อยู่ที่ กทม.มากที่สุด 64 คน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 20 คน เป็นสัญชาติไทย 174 คน จีน 2 คน กัมพูชา 1 คน เมียนมา 1 คน โดยผู้เสียชีวิตอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กอายุ 15 ปี มีอาการสมองพิการเป็นผู้ป่วยติดเตียง สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้เป็นการเสียชีวิตที่บ้าน 12 คน อยู่ใน กทม. 5 คน สมุทรปราการ 3 คน ปทุมธานี 2 คน อุบลราชธานี และปัตตานี จังหวัดละ 1 คน ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 4,857 คน ขณะที่การฉีดวัคซีนเพิ่มเติมวันที่ 30 ก.ค. 480,155 โดส รวมฉีดวัคซีนแล้ว 17,491,632 โดส

พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ ตจว.

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในวันนี้ ได้แก่ กทม. 3,668 คน สมุทรสาคร 1,178 คน ชลบุรี 1,062 คน สมุทรปราการ 872 คน ระยอง 670 คน นนทบุรี 577 คน นครปฐม 538 คน ฉะเชิงเทรา 437 คน ศรีสะเกษ 369 คน และปทุมธานี 351 คน ต่างจังหวัดมีคลัสเตอร์ใหม่ 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย บริษัทเครื่องสำอาง อ.เมืองสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ 13 คน แคมป์ก่อสร้าง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พบผู้ติดเชื้อ 248 คน บริษัทยางรถยนต์ อ.บางเลน จ.นครปฐม พบผู้ติดเชื้อ 23 คน บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 18 คน และโรงงานผลิตภัณฑ์ไก่ อ.เมือง จ.สระบุรี พบผู้ติดเชื้อ 88 คน

จับตา ศบค.ขยายล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ให้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. จะครบเวลาประเมินสถานการณ์อย่างน้อย 14 วัน ตามประกาศ ในวันที่ 2 ส.ค.นั้น วันที่ 1 ส.ค. เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. จะเป็นประธานประชุม ศบค.ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผ่านระบบซูมและมีแนวโน้มที่ประชุม ศบค.ยังคงมาตรการตามข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ต่อไป อย่างน้อยอีก 14 วัน และคาดว่าจะมีการปรับพื้นที่จังหวัดสีแดง เข้มเพิ่มเติม ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

เน้นกระจายวัคซีนผู้สูงอายุ

สำหรับแผนการกระจายวัคซีนในเดือน ส.ค. จะเปลี่ยนที่หมายไปพื้นที่จังหวัดแพร่ระบาดหนักอื่นๆ หากการฉีดวัคซีนใน กทม.เป็นไปตามเป้า ยึดเกณฑ์กลุ่ม 608 คือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วน 8 คือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง บวกสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนข้อเสนอให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคเพิ่มจากอเมริกา ในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าวไม่สามารถฉีดยี่ห้ออื่นได้ ทีมแพทย์เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าฉีดไปแล้วจะปลอดภัย ยังไม่กล้าฉีด ดังนั้นการจัดสรรจะให้กลุ่มแพทย์และกลุ่ม 608 ตามลำดับ ตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตที่พบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่กล้าลงทะเบียนฉีดวัคซีน ขอให้สื่อมวลชนช่วยนำเสนอข้อมูลของรัฐบาล และตำหนิได้ในเรื่องที่สมควรตำหนิไม่ใช่ตำหนิตลอดเพราะจะทำให้คนสับสนได้

จ่อให้ขายอาหารในห้างได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุมจะพิจารณาผ่อนปรนบางมาตรการ เช่น ขายอาหารในห้างสรรพ-สินค้าให้ขายแบบดีลิเวอรีสั่งกลับบ้านเท่านั้น โดยจะเข้มงวดมาตรการป้องกันส่วนบุคคลของพนักงานในครัวมากขึ้น นอกจากนั้นที่ประชุมจะติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคง การกระทำความผิด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย จากสถิติเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จับกุมทั้งผู้กระทำความผิดและลักลอบเข้าเมืองได้กว่า 4,300 คน และยังต้องเฝ้าระวังแนวชายแดนติดต่อเมียนมา ระยะทางยาวถึง 2,401 กม. ฝ่ายความมั่นคงเตรียมเสริมกำลังพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำมากขึ้น

มท.สั่งคุมเข้มหลังเขมรปิดด่าน

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่ารัฐบาลกัมพูชาออกประกาศควบคุมการปิดพื้นที่ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เกาะกง โพธิ์สัต พระตะบอง ไพลิน บันเตียเมียนเจย อุดรเมียนเจย พระวิหาร และเสียมราฐ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการระงับใช้จุดผ่านแดนถาวรระหว่างกัมพูชา-ไทยชั่วคราว ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้า-ออกระหว่างกัน ยกเว้นกรณีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินและการขนส่งสินค้า 2 สัปดาห์ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 ก.ค.-12 ส.ค.2564 ดังนั้นการระงับใช้จุดผ่านแดนระหว่างกัมพูชา-ไทยชั่วคราว จะส่งผลกระทบแรงงานกัมพูชาในไทย อาจไม่สามารถข้ามไปฝั่งกัมพูชาได้จนตกค้างสะสมในฝั่งไทย รวมทั้งอาจมีการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย จึงประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับกัมพูชาให้เพิ่มความเข้มงวดควบคุมการลักลอบเดินทางเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ตั้งจุดตรวจและจุดสกัดในพื้นที่ชายแดน

เกลี่ยส่วนต่างให้กลุ่มเสี่ยงอื่น

ส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 7 แสนโดส กรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 3 ไปก่อนหน้าแล้วนั้น ตัวเลขอยู่ที่กรมควบคุมโรคที่สำรวจไปที่ รพ.แต่ละแห่ง ผลสรุปไม่ทันประชุมพิจารณาจัดสรร อนุมัติในหลักการรวม 7 แสนโดส เมื่อได้ยอดชัดเจน ส่วนต่างจากที่บุคลากรฉีดแอสตราฯไปแล้ว ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นว่ายังมีกลุ่มที่มีความเสี่ยง ดูแลคนไข้ที่ติดโควิด ถึงแม้ไม่ได้อยู่ด่านหน้าโดยตรง แต่มีความเสี่ยงจะมีการพิจารณาตรงนี้เพิ่มเติม รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ในลอตนี้หากยังขาดอยู่จะเกลี่ยไปให้ ยืนยันการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เป็นไปตามหลักเกณฑ์

นอกหลักเกณฑ์ให้ดูเป็นรายไป

ส่วนกรณียังมีบุคลากรการแพทย์บางส่วนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะมีหวังได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 1 ในรอบนี้ด้วยหรือไม่นั้น นพ.สุระกล่าวว่า หากดูกลุ่มเป้าหมายหลักที่จัดไว้ เหลือจากกลุ่มใดก็เกลี่ยภายในกลุ่มถ้าไม่พอจริงๆ ต้องรอรอบถัดไป จริงๆเรามีวัคซีนแอสตราฯให้อยู่แล้ว ประสิทธิภาพเหมือนกัน หากเป็นบุคลากรด่านหน้าจริงๆและมีความจำเป็นต้องได้ไฟเซอร์ อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป เช่น บุคลากรบางคนแพ้วัคซีนที่เรามีอยู่ทั้งหมด ไม่สามารถฉีดวัคซีนที่มีองค์ประกอบบางอย่างในวัคซีนที่เราฉีดอยู่ จึงจำเป็นต้องรอวัคซีนตัวอื่นๆ เมื่อมีเข้ามาก็ต้องพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป ส่วนคนที่ตั้งใจรอไฟเซอร์ตัวเดียว คงดูยากหน่อย จะพิจารณาตามเหตุผลหากเพียงพอ เช่น ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ทางภาคใต้ ต้องการฉีดไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิฯ อาจจะพิจารณาให้ ส่วนเรื่องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่ต้องมีการผสมน้ำเกลือนั้น เป็นสูตรการฉีดที่ทางไฟเซอร์กำหนดอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ขอประชาชนอย่ากังวล ย้ำว่าการผสมน้ำเกลือ เป็นข้อกำหนดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อยู่แล้ว

แจงเกณฑ์กลุ่มไม่ได้ไฟเซอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านบริหารการจัดการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ มีมติเรื่องเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์ ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤติ รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในฮอสพิเทล หรือปฏิบัติงานข้องเกี่ยวกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และมีชื่อปรากฏในฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) ว่าได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยังไม่ได้รับวัคซีนแอสตราฯเป็นเข็มกระตุ้น ส่วนบุคลากรที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับลอตนี้ ได้แก่ ฉีดแอสตราฯ ครบ 2 เข็ม ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็มที่ 3 แล้ว ฉีดซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตราฯ 1 เข็ม ฉีดซิโนแวคหรือแอสตราฯ 1 เข็ม และได้รับการฉีดวัคซีนอื่นๆ

เด็กติดเชื้อกว่า 1.3 หมื่นคน

ต่อมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.63 -25 ก.ค.64 พบมีเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ ติดเชื้อ 13,444 คน มีอาการรุนแรง 791 คน เสียชีวิต 2 คน เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน พบว่าเด็กทั้ง 2 คน ที่เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงและสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว เริ่มมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำดังนี้ 1.ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม

แนะฉีดเด็กเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

2.แนะนำให้ฉีดวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็กกรณีมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น 3.แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน 4.แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท และ 5.แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก ขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว เป็นวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งรับรองให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2564 สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม้จีนจะใช้ในเด็กอายุ 3-17 ปี จากการ ศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก

ยอมรับบางซื่อแน่นเป็นช่วงๆ

ส่วนกรณีศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ยังพบคนมารอฉีดวัคซีนกันหนาแน่นแออัด พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า วันที่ 31 ก.ค.เป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และผู้มีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. วอล์กอินเข้ามาฉีดวัคซีนได้ โดยเจ้าหน้าที่เปิดประตูให้เข้ามาด้านในอาคารตั้งแต่ 6 โมงเช้า ทำให้คนด้านนอกอาคารไม่หนาแน่น จากนั้นจะหนาแน่นอีกครั้งเวลา 10 โมง เพราะคนต่างจังหวัดเดินทางมาถึง มากันเป็นคันรถ ช่วงบ่ายก็คล่องตัวขึ้นจนกระทั่งเวลา 16.00 น. ด้านนอกอาคารไม่มีผู้มารอแล้ว แต่เราทำงานจนถึงเวลาที่กำหนดคือ 17.00 น. ผู้ที่มาในเวลาที่กำหนด ได้ฉีดวัคซีนแน่นอน ภาพรวมวันสุดท้ายฉีดวัคซีนไปประมาณ 2 หมื่นคน

เดือนเดียวอาการหนักพุ่ง

ขณะที่ รพ.บุษราคัม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.กิตติศักดิ์ ผอ.รพ.บุษราคัม เปิดเผยถึงสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลว่า ขณะนี้รพ.เปิดรับผู้ป่วยรวมครบทั้ง 3 ฮอลล์หรือ 3 เฟสแล้ว รองรับได้ 3,700 เตียง รับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ถึงวันที่ 30 ก.ค. มีผู้ป่วยสะสมรวม 12,929 คน หายป่วยกลับบ้านแล้วกว่า 9,000 คน และกำลังนอนรักษาตัว 3,500 คน โดยช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.มีผู้ป่วยสะสมรวม 4 พันกว่าคน ร้อยละ 40 เป็นคนต่างด้าว แต่เฉพาะเดือน ก.ค. ตลอดทั้งเดือนรับผู้ป่วยสะสมกว่า 9,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นคนไทย โดยผู้ป่วยมีอาการหนักและซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น ต้นเดือนมีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 50 เครื่อง ส่วนครึ่งหลังของเดือน ก.ค.เพิ่มเป็น 160 เครื่อง บางวันสูงถึง 200 เครื่องแล้วแต่อาการของผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่ต้องให้ออกซิเจน ขณะนี้มีจุดให้เครื่องออกซิเจน 800 จุด ใช้เกือบหมดทุกจุดแล้ว ทาง รพ.ได้สั่งซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนเพิ่มเติมอีก 550 เครื่อง เนื่องจากมีการพยากรณ์โรคว่าโรคจะระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เพิ่มโซนไอซียูสำหรับผู้ป่วยวิกฤติสีแดงเข้มอีก 17 เตียง และในวันที่ 1 ส.ค.นี้ จะมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ หรือบิ๊กคลีนนิ่ง ที่จุดแรกรับ

กทม.ทยอยเปิดศูนย์พักคอย

สำหรับการตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อใน กทม.วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมผู้บริหาร กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมศูนย์พักคอย กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก เริ่มจากศูนย์พักคอยเขตประเวศ บริเวณอาคารศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอน รองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ตามด้วยตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเขตบึงกุ่ม บริเวณโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ รองรับผู้ป่วย

ได้ 124 เตียง เปิดให้บริการแล้ว และศูนย์พักคอย เขตคันนายาว บริเวณอาคารฝั่งตรงข้ามสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนสยาม รองรับผู้ป่วยได้ 127 เตียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและตรวจสอบระบบต่างๆ กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 5 ส.ค.นี้ จากนั้นไปตรวจความพร้อม รพ.สนามตันปัน เขตห้วยขวาง มีนางศิลปสวย ระวีแสง-สูรย์ ปลัด กทม. นายตัน ภาสกรนที น.ส.ไดอาน่า จงจินตนาการ หมอแล็บแพนด้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารและเก็บรายละเอียดงานภายใน คาดเปิดให้บริการได้เร็วๆนี้

รบ.เตรียมมอบเงินช่วยด่านหน้า

ต่อมานายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า วันที่ 26 ก.ค.คณะกรรมการฯประชุมพิจารณาให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันโควิด-19 รวม 26 ราย เป็นเงิน 1,135,000 บาท ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 11 ราย แบ่งเป็น 1.1 เสียชีวิตติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย ใน จ.สมุทรสาคร และ กทม.รายละ 150,000 บาทเป็นเงิน 300,000 บาท 1.2 เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย เป็นเงิน 100,000 บาท เป็นบุคลากรทางการแพทย์จ.นครราชสีมา 1.3 เจ็บป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ 8 ราย รายละ 30,000 บาท เป็นเงิน 240,000 บาท 2.เจ้าหน้าที่สนับสนุน อสม. เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บริการประชาชนด่านหน้า แบ่งเป็น 2.1 เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 6 ราย รายละ 50,000 บาท เป็นเงิน 300,000 บาท 2.2 บาดเจ็บสาหัสจากการปฏิบัติหน้าที่ 3 ราย รายละ 20,000 บาท เป็นเงิน 60,000 บาท 2.3 เจ็บป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ 3 ราย รายละ 30,000 บาท เป็นเงิน 90,000 บาท 2.4 บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 3 ราย รายละ 15,000 บาท เป็นเงิน 45,000 บาท จะมอบเงินในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ถึงปัจจุบันช่วยเหลือแล้ว 152 ราย เป็นเงิน 5,665,000 บาท โดยกองทุนบัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)”

กักตัวที่บ้านเคลมค่ารักษาได้

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพและการประกันภัย COVID-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่ายังไม่ครอบคลุมถึงกรณีการดูแลรักษาทั้งสองแบบ ดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยเข้ารับการดูแลรักษาทั้งสองรูปแบบดังกล่าวไม่สามารถเคลมประกันได้ ดังนั้น หลังประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ระบบประกันภัยควรจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 คำสั่งนายทะเบียนที่ 44/2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ COVID-19 และเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากวงเงินความคุ้มครองผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์

ให้จ่ายค่าชดเชยรายวันด้วย

เลขาฯ คปภ.ระบุอีกว่านอกจากนี้ยังให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าชดเชยรายวัน ทั้งสองกรณี หากมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน สูงสุด 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ อีกทั้งคำสั่งนายทะเบียนนี้ยังเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร นอกเหนือจากการจ่ายตามที่คำสั่งกำหนด คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งก่อนและหลังวันที่มีคำสั่ง (วันที่ 29 ก.ค.2564) จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564

ผวจ.ภูเก็ตแจงปิดรับบินในประเทศ

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ จ.ภูเก็ต กลับมาพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มขึ้น จนมีคำสั่งงดเดินทางเข้า จ.ภูเก็ตทุกช่องทาง ต่อมา นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4202/2564 เข้มงวดการเดินทางเข้าภูเก็ต มีผลวันที่ 3-16 ส.ค.นี้ ทั้งทางบก ทางเรือ และช่องทางอากาศจากภายในประเทศมายังท่าอากาศยานภูเก็ต ทำให้ต้องหยุดการบินเชื่อม “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กับเกาะสมุยไว้ก่อน เริ่มวันที่ 3 ส.ค.นี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สเริ่มบินเส้นทางนี้สำหรับนักท่อง-เที่ยวต่างชาติที่อยู่ภูเก็ตครบ 14 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ต้องหยุดเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ ที่เพิ่งเริ่มบินจากสนามบินอู่ตะเภา-ภูเก็ต วันที่ 3-16 ส.ค.นี้ออกไปก่อนด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตที่จะไปเกาะสมุยคงต้องใช้บริการทางรถยนต์ไปก่อน ส่วนนักท่องเที่ยว ที่ต้องการกลับประเทศต้นทางสนามบินสุวรรณภูมิ ภาคเอกชนของภูเก็ต ได้จัดรถบริการส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีประมาณวันละ 10 กว่าคน เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกลับประเทศจากสนามบินภูเก็ตอยู่แล้ว

บางกอกแอร์เวย์สงดบินภูเก็ต-สมุย

ด้าน นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่สอดคล้องกับคำสั่งของจังหวัดภูเก็ตดังกล่าว บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางสมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.นี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ส่วนเที่ยวบินภายใต้สมุยพลัสโมเดล ยังคงให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย (ไป-กลับ) เฉพาะเที่ยวบินที่รองรับผู้โดยสารที่ต่อเครื่องมาจากต่างประเทศ วันละ 2 เที่ยวบิน และเส้นทางสมุย-สิงคโปร์ (ไป-กลับ) ให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (เฉพาะวันจันทร์, พฤหัสบดี และอาทิตย์) เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการสมุยพลัสโมเดล

ตจว.อ่วมป่วย-ตายไม่แผ่ว

ส่วนภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเข้ามาไม่ขาดสาย อาทิ ที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยนำศพผู้ป่วยโควิดเสียชีวิต เป็นหญิง อายุ 69 ปี เป็นรายที่ 11 ของ อ.ตาคลี นำไปฌาปนกิจที่เมรุวัดหัวเขาตาคลี จ.อุตรดิตถ์ ตายเพิ่มอีก 2 ศพเป็นรายที่ 6 อายุ 82 ปี และรายที่ 7 อายุ 56 ปี มีอาการหนักมาจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ จ.สุโขทัย สุดเศร้าเมื่อโควิด-19 คร่าชีวิตหนูน้อยวัยแค่ 5 ขวบ จาก อ.ทุ่งเสลี่ยม เป็นรายที่ 16 ของจังหวัด พบป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำร่างหนูน้อยไปเผาที่วัดโสภาราม อ.ศรีสำโรง ด้าน จ.พัทลุง ยังเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 44 คน ตายเพิ่ม 1 ศพ เป็นรายที่ 9 ของจังหวัด เป็นชายไทย อายุ 77 ปี ชาว อ.เขาชัยสน เช่นเดียวกับ จ.ยะลา ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 168 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ศพ ใน อ.เมือง และ อ.รามัน ขณะที่ จ.สระแก้ว ติดเชื้อเพิ่มมาอีก 100 คน เสียชีวิตอีก 3 ศพ

บางพื้นที่ติดเชื้อทุบสถิติรายวัน

วันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่พบผู้ป่วยรายใหม่นิวไฮทุบสถิติ 368 คน ผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 1 ศพ เป็นหญิง อายุ 80 ปี ชาว อ.ครบุรี ขณะที่ จ.ชลบุรี ยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะลุ 1 พันคน เป็นครั้งแรกอยู่ที่ 1,062 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 126 ศพ จ.ระยอง ทุบสถิตินิวไฮผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไป 670 เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นหญิง อายุ 50 ปี นับเป็นรายที่ 22 ของจังหวัด ขณะที่ ผวจ.ระยอง มีคำสั่งตั้ง รพ.สนาม 13 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่กระจายอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างตามโรงงานและสถานประกอบกิจการจำนวนมาก ส่วน จ.นนทบุรี เจอผู้ป่วยรายใหม่ยังสูงถึง 626 คน

เตือนระวังติดเชื้อไม่รู้ตัว

ส่วน จ.อุบลราชธานี ติดเชื้อไม่แผ่วที่ 414 คน แต่ส่วนใหญ่คือ 394 คน มาจาก กทม. และนอกจังหวัด มีติดเชื้อในจังหวัดเพียง 20 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ศพ เป็นชายอายุ 40 ปี อยู่ ต.สว่าง อ.กุดข้าวปุ้น ตรวจพบเชื้อที่ จ.นครปฐม ขอกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา ขณะที่ นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์-โสธร นพ.สสจ.อุบลราชธานี ได้ออกมาเตือนว่า ขณะนี้หลายรายยังหาที่มาที่ไปของเชื้อไม่เจอ มีอาชีพรับส่งสินค้า เดินทางไปมาหลายสถานที่ ทั้งในและนอกจังหวัด วิเคราะห์ดูแล้วน่าจะมีเชื้อกระจายไปหลายพื้นที่ ในจังหวัดอุบลราชธานี รอเพียงการค้นพบผู้ติดเชื้อ และขอให้ระลึกเสมอว่า คนรอบๆตัวเราอาจติดเชื้อไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อได้ จึงควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาดและรักษาสุขอนามัยส่วนตัวอย่างเข้มงวด

สั่งปิด รง.ปล่อยเชื้อกระจาย

ส่วนที่ จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรายงานเมื่อเวลา
24.00 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,178 คน จำแนกเป็นพบผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 240 คน และพบผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลอีก 938 คน ในจำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร 728 คน และที่เหลือเป็นคนนอกจังหวัดอีก 210 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ศพ รวมยอดสะสมอยู่ที่ 127 ศพ ขณะเดียวกัน นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร มีคำสั่งปิดและห้ามดำเนินกิจการใดๆ ในสถานประกอบการแห่งหนึ่งในตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ระหว่างวันที่ 2-15 ส.ค.เป็นต้นไป หลังจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่กลับไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จนเป็นเหตุส่วนหนึ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามในมาตรา 51 และมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มอบชุดตรวจให้สหทัยมูลนิธิ

วันเดียวกัน นางกอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผอ.สหทัยมูลนิธิ เปิดเผยว่า มูลนิธิทำงานทั้งเชิงรุกและป้องกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ ประมาณ 220 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือกลุ่มคนยากไร้ คนตกงาน เด็กและแม่เด็กที่อยู่ในสภาวะไม่พร้อม รวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่แบบ Home Isolation จึงเกิดไอเดียจัดทำ “กล่องต้องรอด” เพื่อดูแลคนเหล่านี้ สิ่งของที่อยู่ในกล่องจะมียาแก้ปวด-ลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย ที่วัดระดับออกซิเจนในร่างกาย ยาลดไข้ประเภทน้ำสำหรับเด็ก และชุดตรวจแรพิดเทสต์ที่ไทยรัฐกรุ๊ปสนับสนุนและเตรียมมอบให้สัปดาห์หน้า จำนวน 1,500 ชุด ใส่ลงไปในกล่องเราต้องรอด เพื่อให้ผู้ป่วยตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้าน

ญี่ปุ่น–มาเลย์ต่อภาวะฉุกเฉิน

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในต่างแดน ยอดติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 198,038,791 คน เสียชีวิตรวม 4,224,466 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 643,028 คน เสียชีวิตในวันเดียว 9,361 ศพ ทั้งนี้ นสพ.วอชิงตัน โพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เผยรายงานจากเอกสารภายในของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) ระบุว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานั้นสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามากและติดต่อได้ง่ายดายพอๆกับโรคอีสุกอีใส และยังทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่มีทั้งหมด ส่วนที่ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับเขตชิบะ คานากาวะ ไซตามะ และโอซากา ซึ่งอยู่ติดกับกรุงโตเกียว ตั้งแต่วันที่ 2-31 ส.ค. หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำลายสถิติด้วยจำนวน 10,743 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในโตเกียว 3,300 คน ซึ่งถือเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันที่ยอดผู้ติดเชื้อเกิน 3 พันคน ส่วนที่มาเลเซียขยายเวลาภาวะฉุกเฉินในรัฐซาราวักทางตะวันออกจนถึง 2 ก.พ.2565 จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุด 1 ส.ค.นี้ เพื่อระงับการเลือกตั้งระดับภูมิภาคท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 17,405 คนในสัปดาห์นี้ และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเมื่อ 30 ก.ค.อยู่ที่ 1,095,486 คน