เปิดปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่ กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น

  • เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น เปิดปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่แบบครอบคลุมทั่วประเทศ นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
  • การซ้อมรบครั้งนี้ ทั้งทหารและยานเกราะจะเคลื่อนย้ายไปทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ที่ตั้งของหมู่เกาะเตียวหยู หรือเกาะเซนคาขุ ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางเสี่ยงต่อการโจมตี 
  • นักวิเคราะห์มองว่าการซ้อมรบครั้งนี้ จะทำให้ญี่ปุ่นมีประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์มากขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณไปยังจีนกับสหรัฐฯ ว่า ญี่ปุ่นสามารถป้องกันตนเองได้

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น (Ground Self-Defense Force-GSDF) ได้เริ่มซ้อมรบครั้งใหญ่ การซ้อมรบครั้งนี้มีทหารเข้าร่วม 100,000 คน ยานพาหนะทางบก 20,000 คัน เครื่องบินรบ 120 ลำ โดยปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งเน้นที่การเตรียมความพร้อมรับมือปกป้องประเทศ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเกาะอยู่ห่างไกล 

พันโทโนริโกะ โยโกตะ โฆษกของจีเอสดีเอฟ กล่าวว่า การซ้อมรบของกองกำลังตนเองภาคพื้นดิน มุ่งเน้นไปที่การเสริมศักยภาพของปฏิบัติการ และการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ละหน่วยที่เข้าร่วมจะต้องตั้งใจฝึกให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตัวเอง เพื่อตอบสนองอย่างมั่นใจ เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจจริงๆ 

การซ้อมรบใหญ่เท่านี้ครั้งก่อนหน้านี้คือเมื่อปี 2536 หลังสิ้นสุดช่วงสงครามเย็น โดยจะมีกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล และกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีเรือจอดรถถังของสหรัฐฯเข้าร่วมสนับสนุนการซ้อมรบครั้งนี้ด้วย 

ส่วนใหญ่การซ้อมรบจะมีขึ้นทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด และในภูมิภาคโทโฮขุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการซ้อมรบบริเวณชิโกกุ ทางตะวันตก รวมไปถึงพื้นที่เกาะคิวชู ซึ่งจะมีการซ้อมรบทางบกและทางทะเล โดยใช้ทั้งรถถัง รถบรรทุก เรือเฟอร์รี่ และรถไฟ โดยเน้นที่การขนส่งลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ การทดสอบระบบการสื่อสาร ซึ่งการซ้อมรบจะมีไปจนถึงช่วงปลายเดือน พ.ย.

นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวว่า การซ้อมรบครั้งนี้เป็นไปตามโครงการกลาโหมแห่งชาติ ปี 2562 ที่ระบุให้เสริมศักยภาพในการปกป้องหมู่เกาะนันเซ และหมู่เกาะเซนคาคุ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองในทะเลจีนตะวันออก โดยมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ อย่างการถูกโจมตีบนเกาะ เพื่อให้กองกำลังเตรียมพร้อมเข้าประจำการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตามแต่สถานการณ์ เนื่องมาจากบรรยากาศด้านความมั่นคงในขณะนี้มีความตึงเครียดมากขึ้น ทางจีเอสดีเอฟต้องเพิ่มความพร้อมปฏิบัติการ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความมั่นคงและความร่วมมือทางการเมือง การทหาร ในแถบอินโด-แปซิฟิกมีความเข้มข้นอย่างมาก ซึ่งทางกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดิน ก็ยอมรับว่าบรรยากาศด้านความมั่นคงรอบๆ ญี่ปุ่นมีความเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีนาวุธรุ่นใหม่ ที่ยิงจากเรือดำน้ำไปตกในทะเลตะวันออก ขณะเดียวกันจีนก็ยกระดับการกดดันไต้หวัน ด้วยการส่งเครื่องบินรบเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ 

มีรายงานว่าทหารกองพลที่ 2 ของจีเอสดีเอฟ ที่มีฐานอยู่ที่เมืองอาซาฮีคาวะ ในจังหวะฮอกไกโด ได้เดินทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร ไปยังพื้นที่ฝึกซ้อมฮิจูได เพื่อเข้าร่วมการซ้อมรบ พวกเขาใช้เวลาหลายสัปดาห์ สร้างพื้นที่ส่งกำลังบำรุงฐานบัญชาการ ตำแหน่งสนามรบ และหน่วยทดสอบใต้ดิน และพรางตาไว้ด้านบนเพื่อไม่ให้สามารถระบุได้

แม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการเตรียมตัวทำสงคราม แต่พื้นที่ซ้อมรบที่ฮิจูได ก็มีสภาพแวดล้อมที่ทหารคุ้นเคย หากเกิดสงครามในบริเวณเกาะตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่รวมทั้งหมู่เกาะเซ็นคาขุที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย และอยู่ในทะเลจีนตะวันออก ที่ทั้งญี่ปุ่นและจีนอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ โดยจีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู

ในขณะที่สื่อของญี่ปุ่นรายงานว่า การซ้อมรบมีขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพในการคานอำนาจกับกองทัพจีนที่พยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งจีนมองว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามแสดงแสนยานุภาพให้ประจักษ์ในกลุ่มอินโด-แปซิฟิกว่า มีความพร้อมที่จะสู้รบกับกองทัพจีน พร้อมเตือนว่า ญี่ปุ่นยังไม่มีศักยภาพพอที่จะมาต่อกรกับจีน ทั้งเรืองการแย่งชิงหมู่เกาะเตียวหยู หรือเซนคาขุ และประเด็นไต้หวัน โดยความขัดแย้งทางการทหารกับจีน มีแต่จะยิ่งบ่อนทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ

ขณะที่นักการเมืองฝ่ายขวาในญี่ปุ่น มองว่าการซ้อมรบครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่จีน จะทำให้รัฐบาลและบรรดานักการเมืองได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน ที่ได้รับข้อมูลเอนเอียงเกี่ยวกับจีนและไต้หวัน มาโดยตลอด ขณะที่การซ้อมรบมีขึ้นในช่วงใกล้วันเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายเดือนนี้. 

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล SCMP Kyodo GlobalTimes