เปิดใจ! เขยฝรั่งชาวอเมริกัน ฟ้อนรำในงานแซนโฎนตา เป็นครูสอนบัลเลต์-สะสมพระเครื่อง

เปิดใจ เขยฝรั่งชาวอเมริกัน ในคลิปฟ้อนรำตามวัฒนธรรมประเพณีไทย ปัจจุบันเป็นครูสอนบัลเลต์ ศรัทธาในศาสนาพุทธ พร้อมโชว์พระเครื่องหลายสิบองค์ที่สะสมไว้

จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิป หนุ่มชาวต่างชาติได้ร่วมฟ้อนรำกับสาวไทย ด้วยลีลาเป๊ะปังจนชาวโซเชียลพากันแชร์ และแสดงความคิดเห็นชื่นชมกันอย่างมากนั้น

ล่าสุด (25 ก.ย. 65) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 11 ต.ใจดี อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ พบกับ นายสก็อต สไปเวย์ อายุ 36 ปี ชาวสหรัฐอเมริกา และ น.ส.จันทิมา อันทร์วัน อายุ 30 ปี ผู้เป็นภรรยา ซึ่งนายสก็อตพูดไทยได้เล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ให้ภรรยาเป็นคนแปล นอกจากนี้ระหว่างสัมภาษณ์ นายสก็อต ได้นำพานใส่พระเครื่องหลายสิบองค์มาให้ดูด้วย เพื่อยืนยันว่าตนเองมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมักจะมีย่ามที่ปักชื่อของ หลวงปู่บุญหลาย (เทวดาเมตตา) หรือพระครูสังฆรักษ์บัณฑิต ภูริปญโญ วัดบ้านปุดเนียม ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ ที่เคารพนับถืออยู่ข้างตัวตลอดเวลา

ทั้งนี้ นายสก็อต เล่าว่า ตนเคยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน ได้กราบไหว้พระสงฆ์ตั้งแต่อยู่ที่นั่น พอมาอยู่เมืองไทยเป็นครูสอนบัลเลต์อยู่ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้รู้จักกับภรรยาซึ่งทำงานเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ และได้แต่งงานกัน ตอนนี้มีลูกสาวด้วยกัน 1 คนอายุ 3 ขวบ จากนั้นจึงพากันกลับมาอยู่บ้านที่ อ.ขุขันธ์ ตนก็ไปสอนบัลเลด์ที่ จ.อุบลราชธานี และสอนภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งตนจะปักหลักอยู่เมืองไทยกับภรรยาและลูกสาวตลอดไป

นายสก็อต กล่าวต่อว่า การที่ตนเป็นครูสอนบัลเลต์ก็มีความชอบทางด้านศิลปะการเต้นรำ การฟ้อนรำ อยู่ในใจ มีความชอบอยู่ในสมองอยู่แล้ว เมื่อทางอำเภอมีงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ก็มีคนมาชวนไปร่วมรำในงาน ตนจึงตกลงไปร่วมฝึกซ้อมด้วย โดยซ้อมกันเพียง 2-3 วัน ก็ได้ไปรำในงานอย่างที่ปรากฏในคลิป

เมื่อว่างจากการสอน ตนจะไปหา “หลวงปู่บุญหลาย” ซึ่งเป็นพระที่ตนเคารพนับถือ เวลาท่านไปกิจนิมนต์ตามที่ต่างๆ หรือไปต่างจังหวัดก็จะชวนตนไป ตนก็ไปกับหลวงปู่บ่อยๆ ทำให้ได้สัมผัสใกล้ชิดกับพระเกจิอาจารย์ ได้รับรสพระธรรมมากขึ้น

ด้าน นางนิภาพร อินทร์วัน อายุ 60 ปี แม่ของ น.ส.จันทิมา กล่าวว่า ตนดีใจที่ลูกเขยซึ่งเป็นชาวต่างชาติมารักและชื่นชอบในวัฒนธรรมประเพณีของชาวอีสานเรา และการที่ลูกเขยไปฟ้อนรำในงานประเพณีของอำเภอ ก็รู้สึกภูมิใจในตัวลูกเขย.