เสียชีวิตปริศนา! พบศพหญิงชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ในอพาร์ตเมนต์กรุงโซล คาดตายมาแล้วกว่า 1 ปี

ตำรวจกรุงโซลสืบสวนกรณี พบศพหญิงชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ เสียชีวิตอย่างปริศนาอยู่ภายในอพาร์ตเมนต์ โดยสภาพศพชี้ว่าเธอตายมานานกว่า 1 ปีแล้ว

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้กำลังดำเนินการสืบสวน กรณีพบศพหญิงชาวเกาหลีเหนืออายุในช่วง 40 ปี ซึ่งแปรพักตร์มาอยู่เกาหลีใต้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองหลวงกรุงโซล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติด้านสวัสดิภาพของชาวเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ

ตามการเปิดเผยของตำรวจและกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ หญิงรายนี้ค้างค่าเช่าห้องนานหลายเดือน และไม่มีใครติดต่อเธอได้ บริษัทจัดหาที่อยู่จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปยังอพาร์ตเมนต์ของเธอและพบศพ ในสภาพเน่าเปื่อยอย่างรุนแรงจนเกือบจะเหลือแต่กระดูก ศพยังสวมเสื้อผ้าฤดูหนาวทำให้ตำรวจเชื่อว่า หญิงคนนี้เสียชีวิตมาราว 1 ปีแล้ว

ด้านกระทรวงรวมชาติไม่ได้เปิดเผยชื่อของหญิงผู้เสียชีวิต แต่พวกเขาเคยยกกรณีของเธอเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการตั้งรกรากใหม่ของชาวเกาหลีเหนือที่หนีมาอยู่เกาหลีใต้ โดยระหว่างปี 2554-2560 เธอทำงานเป็นที่ปรึกษาของกองทุน ฮานา ฟาวน์เดชัน (Hana Foundation) ที่กระทรวงรวมชาติจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือเรื่องการตั้งรกรากของชาวเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้

ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้จะคอยสังเกตการณ์ชาวเกาหลีเหนือที่หนีเข้าประเทศอย่างเป็นกิจวัตร และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และกระบวนการจัดหาที่อยู่ แต่ในปี 2562 หญิงรายนี้ขอตำรวจว่าไม่ต้องขยายเวลาให้การคุ้มครองเธออีกต่อไป

เจ้าหน้าที่นายหนึ่งจากกระทรวงรวมชาติระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหญิงคนนี้เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และทางกระทรวงจะทบทวนระบบบริหารจัดการวิกฤติสำหรับชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์อีกครั้ง และจะแก้ไขในจุดที่ต้องพัฒนา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2541 มีชาวเกาหลีเหนือหนีเข้ามาในเกาหลีใต้มากกว่า 33,000 คน โดยจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี กระทั้งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยพวกเขาต้องเสียงอันตรายจากการข้ามพรมแดน, อาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรืออาจถูกจับส่งกลับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะมีโทษอย่างหนักถึงขั้นประหารชีวิต

แต่ผู้ที่อพยพมาเกาหลีใต้ได้สำเร็จก็ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ หลายอย่าง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม, ความเป็นศัตรูจากชาวเกาหลีใต้บางกลุ่ม, แรงกดดันทางการเงิน และความยากลำบากในการหางานในประเทศที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันอย่างรุนแรงแห่งนี้

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่งมีรายงานว่า ชายผู้แปรพักตร์อายุประมาณ 30 ปีคนหนึ่ง ข้ามพรมแดนกลับไปเกาหลีเหนือ หลังจากหนีมาอยู่เกาหลีใต้ได้ราว 1 ปี สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตที่ยากลำบากสำหรับชาวเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้