“โครงการอะพอลโล” เพาะเมล็ดพืชของโลกในดินจากดวงจันทร์

ในช่วงปี 2512 และ 2515 ภารกิจอะพอลโล 11, อะพอลโล 12 และอะพอลโล 17 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอะพอลโล ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือองค์การนาซา ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการนำมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ ได้เก็บรวบรวม “เรโกลิธ” (Regolith) คือชั้นผิวดินของดวงจันทร์ที่อุดมแร่ธาตุและกักเก็บออกซิเจนไว้มหาศาลกลับมายังโลก

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวนและการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ในสหรัฐฯ เผยผลสำเร็จในการเพาะเมล็ดต้นอะราบิดอพซิส (Arabidopsis thaliana) ในเรโกลิธจากดวงจันทร์เป็นครั้งแรก โดยเพาะในภาชนะคล้ายปลอกนิ้วเล็ก 12 อัน แต่ละอันบรรจุเรโกลิธ 1 กรัม นำไปไว้ในห้องปฏิบัติการที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส ใต้แสงไฟ LED ซึ่งจะทำให้เป็นสีชมพู และเฝ้าดูการงอกของพืช เนื่องจากดินบนดวงจันทร์แตกต่างจากดินบนโลกอย่างมาก จึงคาดเดาไม่ได้ว่าต้นพืชจะงอกออกมาหรือไม่ แต่ในที่สุดต้นพืชก็งอกออกมาจากทุกเมล็ดภายใน 3 วันหลังเติบโตได้ราว 1 สัปดาห์ นักวิจัยได้นำพืชทั้งหมดออกจากภาชนะโดยเว้นไว้ 1 ต้น ปล่อยให้เติบโตจนกระทั่งอายุ 20 วัน จากนั้นก็เก็บใบพืชต้นนี้ไปประเมินกิจกรรมของยีน

ทีมวิจัยเผยว่าต้นอะราบิดอพซิสเติบโตได้ช้าและมีขนาดเล็ก รากแคระแกร็น และมีแนวโน้มที่จะแสดงลักษณะความเครียด เช่น ใบที่เล็กลงและสีดำอมแดงเข้ม ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการเจริญเติบโตที่ดี ทีมระบุว่ากิจกรรมของยีนที่บ่งบอกถึงความเครียด คล้ายกับปฏิกิริยาของพืชที่มีต่อเกลือ โลหะ และการเกิดออกซิเดชัน อย่างไรก็ตาม การได้เห็นพืชบนโลกเติบโตในดินจากดวงจันทร์ นับเป็นความสำเร็จที่ช่วยเปิดประตูสู่การสำรวจในอนาคตโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนดวงจันทร์และมีแนวโน้มว่าอาจใช้ได้กับดาวอังคารด้วย.