“โควิด-19” อาละวาดทั่วไทย! ในรอบ 14 วัน ผู้ป่วยปอดอักเสบพุ่ง หนุ่มมหาสารคามร้องสื่อ! รพ.รัฐเรียกเก็บเงินค่ารักษา

โควิด-19 ยังอาละวาดทั่วไทย พบในรอบ 14 วัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจพุ่ง ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันยังแตะกว่า 2.6 หมื่นคนตายเพิ่มอีก 67 ศพ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย สธ.เร่งเครื่องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเข้าสงกรานต์ หนุ่มมหาสารคามร้องสื่อ สุดงงเจอ รพ.รัฐเรียกเก็บเงินค่ารักษาโควิด-19 ทั้งที่เข้าระบบกักตัวที่บ้าน 10 วัน หาอาหารกินเอง โดย รพ.ออกใบเสร็จกว่า 1 หมื่นบาท เฉลี่ยวันละ 1 พันบาท อ้างเอาไปเบิกต้นสังกัดได้ ด้าน สสจ.มหาสารคาม ขอรอ รพ.ดังกล่าวชี้แจงมาก่อนว่าชอบธรรมในการเบิกจ่ายเงินหรือไม่

ยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ ที่ลูกหลานมักเดินทางกลับภูมิลำเนาไปอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขยิ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มกระตุ้น หวังช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

ยอดติดเชื้อใหม่ยังสูง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26,234 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 26,123 คน จากเรือนจำ 75 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 36 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 20,013 คน อยู่ระหว่างรักษา 250,265 คน อาการหนัก 1,615 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 640 คน

กทม.ติดเชื้อไม่แผ่ว

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 3,128 คน นครศรีธรรมราช 1,356 คน ชลบุรี 1,305 คน สมุทรปราการ 875 คน สมุทรสาคร 759 คน สงขลา 727 คน นครปฐม 691 คน ร้อยเอ็ด 657 คน นนทบุรี 652 คน และพัทลุง 581 คน ขณะที่มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเลขตัวเดียว มีเพียง 2 จังหวัดคือ ลำพูน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน และเชียงราย พบเพิ่ม 5 คน

สูงวัยตายอีกอื้อ

ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 67 คน เป็นชาย 31 คน หญิง 36 คน เป็นคนไทย 65 คน เมียนมา 2 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 50 คน มีโรคเรื้อรัง 16 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 คน โดยเสียชีวิตมากสุดคือ กทม.จำนวน 12 คน ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,503,264 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,228,284 คน มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,715 คน ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 25 มี.ค. 297,875 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 128,399,428 โดส

ปอดอักเสบ-ใส่ท่อเริ่มพุ่ง

นอกจากนี้ จากกราฟข้อมูลของกรมควบคุมโรค ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์ คือระหว่างวันที่ 13- 26 มี.ค.2565 พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1,319 คน เป็น 1,615 คน และผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มจาก 438 คน เป็น 640 คน ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิต เริ่มกลับมาลดลง โดยเป็นกลุ่ม 608 จำนวน 66 คน ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 63 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน เส้นกราฟยังค่อนข้างเป็นเส้นตรงมากกว่าพุ่งขึ้นหรือปักหัวลงชัดเจน

ลุยฉีดวัคซีนถึง 31 มี.ค.

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์สื่อสารทำความเข้า ใจกลุ่มเสี่ยง 608 ให้ได้รับวัคซีนในวงกว้าง พร้อมให้ปูพรมฉีดวัคซีน โดยตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นแก่ผู้สูงอายุให้ได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดโครงการที่จัดรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 เรียกว่า SAVE 608 ใช้เวลาทั้งหมด 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 31 มี.ค. เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนอย่างเต็มที่ โดยเตรียมวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดส สำหรับกิจกรรมบริการฉีดวัคซีนแบบเชิงรับและเชิงรุกก่อนเทศกาลสงกรานต์

ATK ใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อ

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวช ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การตรวจ ATK ขณะนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย มีการตรวจวันละหลายแสนชิ้น ATK ที่ใช้แล้วไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อหรือตรวจไม่พบเชื้อ ถือเป็นขยะติดเชื้อ มาตรการในการทิ้งขยะติดเชื้อจะต้องใส่ถุงแดง และมีการทำลายอย่างถูกต้อง ตามบ้านทั่วไปจะไม่มีถุงแดง และมาตรการการเก็บขยะไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ จึงเป็นปัญหาในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ถ้าทิ้งในขยะปกติที่ไม่ได้มีการแยกขยะ ดังนั้นการตรวจน้ำเสียที่ทิ้งไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย หรือตามแม่น้ำลำคลอง จึงสามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสโควิดได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

ฆ่าเชื้อก่อนแยกทิ้งถุงแดง

ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า หลังการตรวจ ATK คือการทำลายเชื้อในสิ่งที่ตรวจเสียก่อนที่จะนำไปทิ้ง สารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อโควิด-19 ได้ที่เรารู้จักกันคือแอลกอฮอล์ จะทำลายเชื้อเฉพาะไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้มไม่สามารถทำลายได้ เช่น ไวรัสในกลุ่มมือเท้าปากก็พบได้ในบริเวณลำคอเช่นเดียวกัน สารเคมีที่สามารถทำลายไวรัสได้เป็นอย่างดีในทุกกลุ่ม ได้แก่ สารในกลุ่มของฟอร์มาลิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ในทางปฏิบัติเราไม่ได้ใช้กันตามบ้าน สารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ทำลายได้ดี ได้แก่ สารที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารคลอรีนที่อยู่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ ดังนั้น ATK ที่ใช้แล้วควรแยกทิ้งในขยะติดเชื้อหรือถุงแดง แต่ถ้าไม่มีควรทำลายเชื้อเสียก่อนด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนประกอบของคลอรีน โดยหยดลงไป 1-2 หยดแล้วห่อให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการทำลายเชื้อเสียก่อน และจะต้องคำนึงว่าสารดังกล่าวเป็นสารกัดกร่อน และคลอรีนเป็นสารระเหย ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ

เขมรเลิกฟาวิฯ ใช้โมลนูฯแทน

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอแชร์เรื่องที่คนไข้ชาวเขมรเล่าให้ฟัง ผู้ป่วยชายอายุ 42 ปี ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2565 แพทย์ที่นั่นจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ นำเข้าจากประเทศอินเดีย ให้กินเช้า 4 เม็ด เย็น 4 เม็ด นาน 5 วัน อาการดีขึ้น เขาจ่ายเงินค่ายา คิดเป็นเงินไทย 1,500 บาท ยานี้ผลิตในประเทศอินเดีย ราคาขาย 2,000 รูปี คิดเป็นเงินไทย 878 บาท ในกัมพูชาสามารถซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ตามร้านขายยา ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ต้นปี 2565 และแพทย์ที่นั่นไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ประเทศกัมพูชาก้าวหน้ากว่าไทยเรื่องการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโรคโควิด-19

“ใบเตย-เบสท์” ติดโควิด

ขณะเดียวกัน ในวงการบันเทิงเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ยังมีคนติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มอีก 4 คน คือ “ใบเตย อาร์สยาม” หรือ ใบเตย-สุธีวัน กุญชร ณ อยุธยา แจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ดูแล น้องเวทย์มนต์ หรือ ด.ญ.ดั่งต้องมนตรา ลูกสาววัย 1 ขวบ ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกัน และตอนนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกรายคือ “เบสท์-รักษ์วนีย์ คำสิงห์” นางเอกสาว วัย 21 ปี ทายาทคนโตของสมรักษ์ คำสิงห์ แจ้งผลการตรวจ RT-PCR ของตัวเองว่า พบเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ “ตงตง-กฤษกร กนกธร” หรือ “ตงตง เดอะสตาร์” แฟนหนุ่มก็ติดเชื้อและเข้ารักษาตัวไปก่อนหน้านี้ ต่อด้วยนักแสดงหนุ่ม โอ-อนุชิต และแพท-รัณนภันต์ นักร้องนำวงเคลียร์

โวยทำ HI แต่ รพ.ให้จ่ายค่ารักษา

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ทุเลาก็กลับเกิดเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการป่วย โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ผู้สื่อข่าวจังหวัดมหาสารคามได้รับการร้องเรียนจากนายศุภกร ปัตตะพงศ์ อายุ 58 ปี ชมรมกลุ่มวาปีที่รัก ว่า สมาชิกชมรมเป็นพนักงานธนาคาร ธ.ก.ส.นำใบเสร็จจาก รพ.วาปีปทุม ส่งมาให้ดูว่ามีการเบิกค่าห้องโรงพยาบาลและค่าอาหาร ทั้งที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยออกใบเสร็จค่านอนโรงพยาบาลและค่าอาหาร วันละ 1 พันบาท รวม 10 วัน 10,000 บาท บวกค่ายา 59 บาท รวมเป็น 10,059 บาท ถ้าเป็นข้าราชการ เบิกตรงต่อกรมบัญชีกลาง ไม่ต้องสำรองจ่าย จึงไม่กระเทือนเท่าไรเพราะผู้ป่วยไม่ต้องควักจ่าย แต่สมาชิกกลุ่มตนเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ พอรักษาหายได้ไปขอใบรับรองเพื่อยื่นขอลาป่วย ทาง รพ. วาปีปทุมไม่สามารถหักเงินที่กรมบัญชีกลางได้ จึงให้คนป่วยสำรองเงิน จากนั้นเอาใบเสร็จไปเบิกที่ต้นสังกัด แต่พอเห็นใบเสร็จก็งง เพราะสมาชิกรักษาตัวที่บ้านนอนที่ห้องตัวเอง อาหารทำกินเองหรือญาตินำส่ง แต่ทางโรงพยาบาลยังออกใบเสร็จค่าที่พัก ค่าอาหารวันละ 1 พันบาท มีเลขเตียง เลขห้องพัก เขาติดเชื้อโควิดทั้งครอบครัว 4 คน นอนรักษาตัวที่บ้านมีแค่ยาพารามาให้ ส่วนหมอจาก รพ.ไม่ได้มาพบเลยทั้ง 10 วัน ต้องจ่ายค่ารักษาสำรองไปก่อน (เบิกได้) คนละ 10,059 บาท ตกคนละ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน สงสัยว่าทางโรงพยาบาลคิดค่าห้องได้อย่างไร ค่าอาหาร 3 มื้อ เอามาให้คนป่วยทานตอนไหน และไม่ใช่แค่มหาสารคาม เท่าที่ตรวจสอบจะเป็นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จึงอยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงการเบิกจ่ายเงินแบบนี้ด้วย

สสจ.มหาสารคามรอ รพ.ชี้แจง

ด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มหาสารคาม กล่าวว่าจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับใบเสร็จของทาง รพ.วาปีปทุมออกให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจรายหนึ่งไปเบิกเป็นยอดเงิน 10,059 บาทในการรักษาโควิดนั้น จะต้องมีการตรวจสอบว่า รพ.วาปีปทุมมีการให้บริการดังกล่าวตามที่ออกใบเสร็จนั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีการบริการดังกล่าว จะเป็นความไม่ชอบธรรมในการเบิกจ่ายเงิน ได้สั่งให้ รพ.วาปีปทุมชี้แจงประเด็นดังกล่าวมาให้ สสจ.มหาสารคามทราบต่อไป

บุคลากรสาธารณสุขติดเชื้ออื้อ

ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 2,967 คน แบ่งเป็นจากการตรวจ RT-PCR 358 คน จากการตรวจ ATK 2,609 คน มีผู้ป่วยกำลังรักษาตัวจำนวน 20,092 คน เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 278 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 18 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นหญิงอายุ 86 ปี ชาว ต.กระเดียน อ.ตระการพืชผล ติดเชื้อจากคนในครอบครัว เคยรับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม มีโรคประจำตัวความดันสูงและเบาหวาน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เดิมทั้งงานบุญ ตลาด ชุมชน และครอบครัว โดยเฉพาะคลัสเตอร์ร้านกึ่งสถานบันเทิง ร้านเหม่งจ๋าย อ.วารินชำราบ ที่พบเชื้อครั้งแรกวันที่ 20 มี.ค.หลังจากนั้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดเพิ่ม 31 คน รวมผู้ติดเชื้อแล้ว 240 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 348 คน และคณะกรรมการโรคติดต่อมีคำสั่งให้ปิดร้านเป็นเวลา 10 วัน ขณะเดียวกันพบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อมากขึ้น โดยมีนาคม 2565 ตั้งแต่วันที่ 1-23 ที่ผ่านมา ติดเชื้อแล้ว 410 คน เฉลี่ยวันละ 25-40 คน ทั้งจากการให้บริการประชาชนในสถานบริการสาธารณสุข รพ.และในชุมชน รวมทั้งติดเชื้อจากครอบครัว ทำให้บุคลากรที่ติดเชื้อต้องกักตัวรักษา ส่งผลให้อัตรากำลังของบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการประชาชนลดลง

สลดเด็ก 10 เดือนติดโควิดดับ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิกระบี่พิทักษ์ประชา จ.กระบี่ รับแจ้งจาก รพ.กระบี่ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย ให้รับศพไปประกอบพิธีฌาปนกิจ เป็นเด็กหญิงวัย 10 เดือน จนท.รับศพไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่วัดโภคาจุฑามาตย์ ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ โดยมี น.ส.มณีรัตน์ คงเอียด อายุ 26 ปี ชาว จ.พัทลุง แม่ของเด็กไปร่วมพิธี สอบถามแม่เด็กระบุว่า ลูกติดเชื้อโควิดจากพ่อ ซึ่งทำงานอยู่บนเกาะลันตา จ.กระบี่ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้น เข้ารับการรักษาที่ รพ.เกาะลันตา 6 วัน อาการไม่ดีขึ้น ถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ รพ.กระบี่ กระทั่งวันที่ 25 มี.ค. ได้รับแจ้งจาก รพ.กระบี่ ว่าน้องอาการทรุด เนื่องจากเชื้อลงปอด เจ้าหน้าที่พยายามช่วยกันยื้อชีวิต แต่สุดท้ายไม่สามารถยื้อชีวิตของน้องไว้ได้ เสียชีวิตช่วงบ่ายของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาถือเป็นผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 156 ของ จ.กระบี่

ฉีดวัคซีนมีลุ้นรางวัลใหญ่

ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่ม 608 ใน จ.บึงกาฬ ที่พบว่ามียอดการฉีดวัคซีนไม่ถึงร้อยละ 10 ของยอดประชากรในกลุ่มนี้ ทำให้สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่ม 608 และเพื่อสร้างแรงจูงใจ ประชาชนที่เข้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะได้สิทธิ์จับรางวัล ที่มีทั้งข้าวสาร น้ำปลา ไข่ไก่ ปลากระป๋อง พัดลม หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อนและรถจักรยานเป็นรางวัลใหญ่ ซึ่งตลอดเช้าวันที่ 26 มี.ค. ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศรีสำราญ อ.พรเจริญ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมอบจักรยานให้กับผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลหลังฉีดวัคซีนด้วย

เชียงใหม่ยังงดเล่นสาดน้ำ

ด้านนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างคำสั่งและมาตรการรองรับการเปิดพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะยึดตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส 2019 งดการเล่นสาดน้ำ และเน้นการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ มีการตั้งจุดคัดกรอง จุดบริการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน พร้อมทั้งให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) พร้อมเร่งสร้างภูมิคุ้มกันกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 รองรับการเปิดจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวในวันที่ 1 เมษายน และเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึง

เซี่ยงไฮ้ยันไม่ล็อกดาวน์เมือง

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในต่างแดน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเจ้าหน้าที่คณะทำงานด้านโรคระบาดใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ยืนยันไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบทั้งเมือง แม้ว่าจะมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 2,269 คน เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน 38 คน และไม่มีอาการ 2,231 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของยอดผู้ป่วยรายใหม่ของประเทศทั้งหมด 5,600 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่แสดงอาการ โดยให้เหตุผลว่าการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ มีเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศจำนวนมากที่เดินทางเข้า-ออกในทะเลจีนตะวันออก และมีประชากรกว่า 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ทางการเซี่ยงไฮ้วางแนวทางที่ตรงเป้ายิ่งขึ้น โดยกำหนดการล็อกดาวน์ 48 ชั่วโมง เฉพาะในชุมชนที่มีการติดเชื้อและย่านใกล้เคียง รวมถึงเร่งการตรวจหาเชื้อในวงกว้าง และแจกชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองให้กับประชาชน