โปแลนด์ส่งทหาร-ตำรวจ ควบคุมผู้อพยพตามเเนวชายแดน จวกผู้นำเบลารุสก่อวินาศกรรม

โปแลนด์ส่งทหารและตำรวจไปควบคุมผู้อพยพบริเวณชายแดนติดต่อกับเบลารุสเพิ่ม ขณะที่นายกรัฐมนตรีจวกผู้นำเบลารุสว่าพยายามก่อวินาศกรรม

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของโปแลนด์ เปิดเผยในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ว่า ผู้อพยพจำนวนหลายพันคนที่มารวมตัวกันบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเบลารุส พยายามรุกล้ำพรมแดนเข้าสู้ประเทศของพวกเขาอย่างผิดกฎหมายหลายต่อหลายครั้งในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา ทำให้ต้องส่งทหารไปเพิ่มเติมจนตอนนี้มีทหารประจำการบริเวณชายแดนกว่า 15,000 นายแล้ว

ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้อพยพบริเวณชายแดนโปแลนด์กับเบลารุสคุกรุ่นมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้อพยพมารวมตัวกันที่ชายแดนระหว่างเบลารุสกับสหภาพยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางข้อกล่าวหาจากฝั่ง EU ว่า นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุสพยายามจะทำให้เกิดวิกฤติผู้อพยพในยุโรปอีกครั้ง เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรที่ EU บังคับใช้เมื่อหลายเดือนก่อน เพื่อลงโทษที่รัฐบาลเบลารุสปราบปรามผู้ชุมนุม

เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ผู้อพยพพยายามใช้คีมตัดเหล็กตัดรั้วกันชายแดนบริเวณหมู่บ้าน คุซนิกา ของโปแลนด์เพื่อลักลอบเข้าประเทศ ก่อนที่จะเกิดความพยายามแบบเดียวกันในพื้นที่ชายแดนอื่นๆ เจ้าหน้าที่คุ้มกันชายแดนระบุว่า แค่ช่วงวันอังคารเพียงวันเดียว ก็เกิดความพยายามเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายแล้วถึง 599 ครั้ง โดยมีผู้อพยพ 9 คนทั้งหมดมาจากประเทศในตะวันออกกลาง ถูกจับกุม

ขณะที่นาย มาเตอุซ โมราเวียตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวหาเบลารุสว่ากำลังก่อวินาศกรรมด้วยทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนของทั้ง 2 ประเทศรุนแรงขึ้น “มันชัดเจนว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้คือ การก่อวินาศกรรมโดยรัฐ” และเขาเชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นผลจากความพยายามแก้แค้นของนายลูคาเชนโก ที่โปแลนด์ให้การสนับสนุนฝ่ายค้านของเบลารุส

ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก กับนายกรัฐมนตรี มาเตอุซ โมราเวียตสกี

ส่วนนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับนายโมราเวียตสกีเมื่อวันพุธว่า การใช้ชาย หญิง และเด็กๆ เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เป็นเรื่องที่น่าอับอายและไม่อาจยอมรับได้ เขายังเรียกร้องให้ชาติสมาชิก EU ร่วมกับหาวิธีรับมือที่ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตร รวมทั้งการระดมทุนสร้างรั้วกันชายแดนด้วย

ด้านนายอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เพื่อขอให้เขาช่วยกดดันเบลารุสให้หยุดใช้ผู้อพยพเป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัสเซียออกมาตอบโต้ว่า การที่โปแลนด์กล่าวโทษรัสเซียก่อนหน้านี้ว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิกฤติ เป็นเรื่องที่ไร้ความรับผิดชอบ และว่า EU ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เบลารุสเพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพมากกว่า