โอมิครอนสายพันธุ์ “XBB” ระบาด! สิงคโปร์หนัก ฮ่องกงตรวจพบ จากไทย 3 ราย

ยังไม่พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ XBB ในไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยันสุ่มตรวจและเฝ้าระวังต่อเนื่อง ประสานขอข้อมูลฮ่องกงตรวจพบ XBB มาจากไทย 3 ราย ด้านศูนย์จีโนมฯ เผยนักวิจัยทั่วโลกร่วมกันถอดรหัสพันธุกรรมโควิดที่ระบาดหนักตลอด 3 ปี ตั้งแต่ต้นกำเนิด “ไวรัสอู่ฮั่น” นำมาสร้างเป็นต้นไม้แห่งวิวัฒนาการ พบแตกกิ่งก้านต่อเนื่องจนเป็น “โอมิครอนกลุ่มเพนตากอน” และคาดระบาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้หรือต้นปี 66

กรณีประเทศสิงคโปร์พบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ XBB ที่เป็นลูกผสมระหว่าง BJ.1 กับ BM.1.1.1 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ.ก็เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ XBB เข้าสู่ไทยเนื่องด้วยภูมิศาสตร์ที่ใกล้กัน อีกทั้งคนไทยนิยมไปท่องเที่ยวที่สิงคโปร์นั้น

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมวิทย์ฯสุ่มตรวจและเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบสายพันธุ์ XBB ในประเทศไทย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าการตรวจเชื้อรวมถึงสายพันธุ์สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศ ไทยขณะนี้ ไม่ได้มีการตรวจทุกคน การระบาดของสายพันธุ์ XBB ในสิงคโปร์ที่มีมากขึ้น คงจะมีการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการที่เดินทางจากสิงคโปร์เข้าไทยมากขึ้น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกกับสายพันธุ์ดังกล่าว จากข้อมูลที่ติดตามยังไม่พบว่ามีนัยความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น เป็นธรรมชาติของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ต่างๆตลอดเวลา ที่ตรวจพบส่วนใหญ่เวลานี้ยังเป็นสายพันธุ์ BA.5 ที่ครองพื้นที่

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า กรณีที่มีนักวิชาการระบุถึงข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกงระบุว่าตรวจพบไวรัส XBB ในประเทศ 29 คน ส่วนใหญ่พบจากผู้เดินทางมาจากสิงคโปร์ แต่มี 3 คนที่ตรวจพบเดินทางมาจากไทยนั้น จะมีการประสานข้อมูลไปยังสาธารณสุขฮ่องกง ขอความชัดเจนว่าเป็นผู้ที่เดินทางออกจากประเทศไทยโดยตรง หรืออาจจะเป็นผู้เดินทางมาจากที่อื่นและมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทยที่อาจเป็นไปได้เช่นกัน

ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย ศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนว่า นักวิจัยทั่วโลกได้ร่วมกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัส
โคโรนา 2019 มาตลอด 3 ปี ทำให้นำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างเป็นต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดจาก “ไวรัสอู่ฮั่น” ได้วิวัฒนาการกลายพันธุ์เกิดเป็นทั้งสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย แตกกิ่งก้านมาทดแทนกันอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเกิดเป็นโอมิครอน กลุ่มเพนตากอน อย่างน้อย 6 สายพันธุ์ย่อย BQ.1.1, BF.7, BA.2.3.20, BA.2.75.2, BN.1, และ XBB จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโควิดโลก “GISAID” ในไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BF.7 จำนวน 2 คน BN.1 จำนวน 3 คน BA.2.75.2 จำนวน 5 คน แม้จากข้อมูลจากฐานข้อมูลโลกจะพบการระบาดของแต่ละสายพันธุ์อยู่ในราว 200-2,000 คน แต่มีการเพิ่มจำนวนมากกว่า 105% หรือเท่าตัวในทุกสัปดาห์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดว่าจะระบาดมาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกงขอทราบข้อมูล 3 รายที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBB ที่เดินทางจากไทยว่าเป็นใคร อาศัยอยู่ในไทยหรือเป็นผู้โดยสารต่อเครื่องบิน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การระบาดเพื่อรับมือและเฝ้าระวัง แต่จากข้อมูลต่างประเทศยังไม่พบความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ยกระดับการเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินทุกแห่ง หากตรวจพบผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ฮ่องกงและประเทศที่มีรายงานการระบาดของสายพันธุ์ XBB มีอาการระบบทางเดินหายใจหรือมีผู้ป่วยมาจากต่างประเทศเข้ารักษา รพ.เอกชนและ รพ.รัฐ ให้สุ่มหาเชื้อส่งตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์