“ไบเดน” เยือน! “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ขยายแนวร่วมพันธมิตรต้าน “รัสเซีย”

  • ทำเนียบขาวเปิดเผยว่านายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนภูมิภาคเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยจะเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.นี้ หลังจากต้อนรับผู้นำจากชาติอาเซียน ในวันที่ 12 พ.ค.ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยจะหารือเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลในภูมิภาคของจีน
  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเคยประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นนโยบายต่างประเทศที่จะให้ความสำคัญอย่างมาก แม้ก่อนหน้านี้จะยังไม่เคยมีโอกาสเยือนภูมิภาคนี้เลยสักครั้ง
  • การเยือนครั้งนี้จะมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ร้อนแรงในยูเครน ตลอดจนความท้าทายที่มากขึ้นจากปัญหาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือและการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค 

สำหรับทำเนียบขาว เรียกได้ว่าเดือน พ.ค.นี้จะเป็นเดือนแห่งภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากกำหนดการแน่นทั้งเดือน เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องเปิดทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต้อนรับผู้นำจากชาติอาเซียน และจะเข้าร่วมประชุมกันในวันที่ 12 พฤษภาคม มุ่งเน้นหารือเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลในภูมิภาคของจีน หลังจากกำหนดการนัดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 28-29 มี.ค. ทางฝ่ายอาเซียนได้ขอเลื่อน เนื่องจากมีสมาชิกบางประเทศไม่สะดวก 

จากนั้นผู้นำสหรัฐฯ ก็จะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อพบหารือกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ และเข้าร่วมการประชุมกลุ่ม “ควอด” (Quadrilateral Security Dialogue) ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยมีสมาชิกอย่างออสเตรเลีย และอินเดียเข้าร่วม หลังจากกลุ่มควอด เปิดตัวครั้งแรกในปี 2550 และเป็นรูปเป็นร่างในอีกทศวรรษต่อมา หลังจากจีนรุกคืบโครงการด้านการทหารต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และเกิดเหตุปะทะรุนแรงตามแนวชายแดนติดกับอินเดีย

จากนั้นนายไบเดนจะเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้เพื่อพบหารือกับนายยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งนับเป็นการเยือนภูมิภาคเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งปธน. 16 เดือนก่อน ด้วยติดภารกิจแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทริปนี้นับว่าเป็นการเยือนที่ล่าช้ามาก เมื่อเทียบกับอดีตประธานาธิบดีคนอื่น โดยก่อนหน้านี้นายไบเดนได้ส่งนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม มาเยือนเอเชียแล้ว ตามด้วยคณะของสมาชิกสภาคองเกรสที่ไปเยือนไต้หวัน 

คาบสมุทรเกาหลีที่กลับมาร้อนระอุ

หลายฝ่ายจับตาการเยือนเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะร้อนแรง เนื่องจากประธานาธิบดีไบเดน จะได้พบหารือกับนายยุน ซอก ยอล ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีกำหนดการจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 10 พ.ค.นี้พอดี โดยก่อนหน้านี้ว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศเปลี่ยนขั้วนโยบายการต่างประเทศ จากท่าทีอ่อนโยนกับเพื่อนบ้านเกาหลีเหนือในสมัยรัฐบาลเก่าของประธานาธิบดีมุน แจอิน มาเป็นแข็งกร้าวมากขึ้น และจะหันมากระชับความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ในยุโรป  

นายยุน ซอก ยอลกล่าวว่านับจากนี้เราไม่ควรมุ่งเน้นที่ประเด็นความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออย่างเดียว แต่ควรขยายโอกาสทางการทูตไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียและยุโรป ภายใต้รากฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และมองว่าเกาหลีใต้ควรมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นหนึ่งในท็อปเท็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 

หมายความว่าเราอาจจะได้เห็นเกาหลีใต้ขยายความร่วมมือทางการทูตในระดับโลก และร่วมต่อต้านรัสเซียที่ทำสงครามบุกยูเครน และร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับการขยายอิทธิพลของจีน โดยมีข่าวลือว่าเกาหลีใต้อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มควอด แม้ว่าในตอนนี้เกาหลีใต้จะยังปฏิเสธข่าวนี้ก็ตาม

ท่าทีของว่าที่ผู้นำใหม่เกาหลีใต้ อาจจะยิ่งทำให้เกาหลีเหนือแข็งกร้าวมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธนับสิบครั้ง ในขณะที่ประธานาธิบดีคิม จองอึนประกาศในงานพาเหรดฉลองวันครบรอบอดีตผู้นำสูงสุดคิม อิลซุง เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เกาหลีเหนือจะยกระดับการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนหน้านี้นายไบเดนได้สนทนาทางโทรศัพท์กับว่าที่ผู้นำใหม่เกาหลีใต้ โดยแสดงความยินดีที่ชนะเลือกตั้งพร้อมหารือหลายประเด็นอย่างภัยคุกคามจากโครงการขีปนาวุธเกาหลีเหนือ ตลอดจนปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าเกาหลีเหนือ เป็นความท้าทายยิ่งใหญ่สำหรับนโยบายต่างประเทศรัฐบาลไบเดน หลังจากผ่านพ้นรัฐบาลของนายมุน แจอินที่พยายายามประสานรอยร้าวทางการทูต และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการจัดการให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือ

ขยายแนวร่วมพันธมิตรต้านรัสเซีย

การเยือนเอเชีย 4 วันของผู้นำสหรัฐฯ จะมีขึ้นท่ามกลางวิกฤติการสู้รบที่ยืดเยื้อในยูเครน นายไบเดนพยายามรวมตัวสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรร่วมต่อต้านความรัสเซียที่ยังคงบุกโจมตียูเครน นับตั้งแต่เปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 3,000 ศพ สหรัฐฯ บริจาคเงินช่วยเหลือยูเครนไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียแล้วหลายระลอก  

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม นายไบเดนเพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนยุโรปเพื่อย้ำความเป็นพันธมิตรในการต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เรียกร้องให้ชาติตะวันตกช่วยกันรักษาแนวร่วมในการต่อต้านรัสเซีย พร้อมยืนยันว่ามาตรการคว่ำบาตรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องรักษาไว้ และกล่าวว่าสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือ สหรัฐฯ และยุโรปจะต้องสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และโลกจะต้องพุ่งเป้าไปที่ความโหดร้ายของวลาดิเมียร์ ปูติน

ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะยังสามารถโฟกัสกับเอเชียได้แม้ว่าจะถูกถาโถมด้วยปัญหาวิกฤติในยูเครน และผู้นำสหรัฐฯ ยินดีที่มีพันธมิตรเอเชียอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ร่วมกันประณามและคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างช่วยส่งก๊าซธรรมชาติไปให้ยุโรป ที่กำลังประสบปัญหานำเข้าพลังงานจากรัสเซีย. 

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : CNN The Diplomat Foreign Policy