“ไม่จ่าย ไม่จบ” ตร.ทางหลวงเอาจริง! สถิติปี 64 แจกใบสั่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านใบ จ่ายค่าปรับคิดเป็นแค่ 10%

  • พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล.ยึดแนวทางบังคับใช้กฎหมายเดียวกับ บช.น. ดำเนินคดีกับผู้เพิกเฉยต่อใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร เผยข้อมูลสถิติปี 2564 แจกใบสั่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านใบขึ้นไป ผลปรากฏว่า มีผู้มาจ่ายค่าปรับใบสั่ง คิดเป็นแค่กว่า 10%

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล.ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ ถึงกรณี กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด (บช.น.เอาจริง โดนใบสั่ง ไม่จ่ายค่าปรับตามเวลาที่กำหนด เจอหมายจับถึงบ้าน) ว่า ในส่วนของตำรวจทางหลวงก็ได้ยึดแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามกรอบตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน จึงได้มีแนวคิดปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการไม่ชำระใบสั่งค่าปรับจราจร ซึ่งพบว่าบางรายมีการกระทำความผิดซ้ำถึง 80-100 ครั้ง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทาง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น และเพื่อเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนผู้ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายได้รับประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบและเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหลายราย

โดยเรามีการนำร่องโครงการการดำเนินคดีกับผู้เพิกเฉยต่อใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดย พ.ต.ท.ดร.เจต จึงประเสริฐศรี สว.ส.ทล.5 กก.5 บก.ทล. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ทล.5 กก.5 ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด และพบว่า ข้อมูลจากระบบ Police Ticket Management แสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2564 จังหวัดเชียงราย มีผู้ครอบครองรถยนต์ที่กระทำความผิดและได้รับใบสั่งเกิน 10 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,237 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย จำนวน 1.3 ล้านคน ถือได้ว่ามีผู้กระทำความผิดซ้ำในจำนวนไม่มาก
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นโยบายนี้ ได้มีส่วนช่วยให้ประชาชนในจังหวัดเชียงราย เคารพกฎหมายจราจรมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้อัตราการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร การเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลง ซึ่งโครงการดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทงานวิจัย เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในงานสัมมนาระดับชาติครั้งที่ 15

โดยวันก่อน ที่ประชุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.จึงได้สั่งการให้นำนโยบายตรงนี้มาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยตนได้รับมอบหมายให้ไปพัฒนาระบบ PTM หรือระบบจัดการใบสั่งออนไลน์ ให้ครบวงจร สามารถตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้ที่มีใบสั่งค้างชำระในสถานีตำรวจทั่วประเทศ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนนี้

จากข้อมูลคร่าวๆ ในปี 2564 มีการแจกใบสั่งทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านใบขึ้นไป ผลปรากฏว่า มีผู้มาจ่ายค่าปรับใบสั่ง คิดเป็นแค่กว่า 10% ส่วนที่เหลือยังเพิกเฉย ละเลยที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น สำหรับผลการกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายจราจร พบความผิดที่ฝ่าฝืนมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถเร็ว อันดับ 2 ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ

เมื่อถามว่า กรณีมีประชาชนมองว่าการโดนใบสั่งจากกล้องตรวจจับความเร็ว ซึ่งค่าปรับมีราคาแพง ไม่สมเหตุสมผลกับภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้ พล.ต.ต.เอกราช เผยว่า แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับโทษปรับ ค่าปรับไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการกระทำความผิด ค่าปรับกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิด ดังนั้นค่าปรับที่ถูกเกินไป ซึ่งใครทำผิดก็จ่ายได้ บางคนก็จะมองว่ามีตังค์จ่าย ไม่สนใจ แต่ค่าปรับที่มีอัตราที่สูงพอสมควร ก็จะทำให้คนบางคนหรือคนส่วนใหญ่ ฉุกคิดได้ว่าไม่ทำผิดดีกว่า เพราะเดี๋ยวจะเสียตังค์ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าค่าปรับสูงต้องไปดูกับภาวะเศรษฐกิจอะไร ถ้าเรากำหนดค่าปรับต่ำแล้วคนไม่กระทำความผิดก็ยิ่งดี แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างงั้น

“คำถามที่ว่า ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ตำรวจทางหลวงปรับ 500 บาท ปรับแพงไปมั้ย โดยเราปรับตามข้อกำหนดที่ประกาศเอาไว้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ต้องถามกลับว่า คุณเป็นคนที่ละเมิดกฎหมาย หรือปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วคนที่ละเมิด ควรจะมีมากกว่าคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ แล้วถ้าเราไม่ฟังเสียง ไม่ดูแลคนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วใครจะดูแล”

พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า การขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวผู้ขับขี่เอง และเพื่อนร่วมทางที่ใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ท่านกำลังละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยของตัวเอง

“อยากให้มองใบสั่งคือ กระจกเงา ท่านได้รับใบสั่ง 1 ใบ นั่นคือกระจกเงาที่ทำให้เห็นว่า พฤติกรรมการขับขี่ของเราไม่ว่าจะเป็นการฝ่าไฟแดง ขับรถเร็ว สักวันอาจจะเกิดอันตรายต่อเรา หรือคนที่เรารัก หรือใครก็แล้วแต่ เราอย่าทำผิดอีกเลยมั้ย ส่วนจะจ่าย/ไม่จ่าย เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ทำผิดอีก นั่นก็ถือว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ในการออกใบสั่งแล้ว”

ผบก.ทล.กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติตามกฎจราจรมันอาจจะดูยากลำบาก เพราะว่ามันเป็นการสร้างวินัยในตัวเอง แต่คนที่จะได้ผลประโยชน์ตรงนั้น คือตัวท่านเอง ในฐานะผู้ขับขี่ ส่วนที่สองเพื่อนร่วมทาง อาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือคนที่เรารู้จักก็ได้ ดังนั้นอุบัติเหตุจราจรควบคุมได้ ด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจรนั่นเอง

ต้องวิงวอนว่า “ใบสั่งมันเป็นกระจกเงา” ที่ทำให้ท่านเห็นว่า ท่านกำลังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อตัวเองและครอบครัวคนที่เรารัก เพราะฉะนั้น ฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนช่วยกันเคารพกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของท่านเอง.

กราฟิก : Varanya Phae-araya