ไม่ตั้งพรรคใหม่!! “ป้อม-ตู่” ต่างมีขุมกำลังตัวเอง ยันร่วมงานพลังประชารัฐต่อไป

พท.เอาคืน “ยุทธพงศ์” โต้กลับ “ไชยันต์” ฉีกบัตรเลือกตั้งจนนำไปสู่การปฏิวัติเหมาะสมแล้วหรือ แนะเคารพคนที่มาตามระบอบบ้าง “อรุณี” ถามจะคืนอำนาจประชาชนเมื่อไหร่ วิปฝ่ายค้านจ่อถกญัตติซักฟอกโดยไม่ลงมติ “ไผ่” โวเสียงท่วมท้นไม่มีล่ม กฎหมายกี่ฉบับผ่านหมด “ไพบูลย์” ยันคุมเสียง ส.ส.ได้เบ็ดเสร็จ พปชร.ปรับโครงสร้างใหม่ตามพิมพ์เขียว “พีระพันธุ์” แบ่ง 10 โซนทั่วประเทศให้หัวหน้าภาคคุม กระจายอำนาจกันพรรคแตก “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” มีขุมกำลังเป็นของตัวเอง โพลชี้ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่แล้ว “บิ๊กตู่” บินนอกร่วมเวที COP ถกสภาพภูมิอากาศโลก

ยังคงเป็นเป้าทางการเมืองหลังพรรคเพื่อไทยเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ล่าสุดนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบโต้นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่โพสต์เฟซบุ๊กย้อนรอยข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่วเมื่อปี 2547 ไม่เลิก

พท.โต้กลับ “ไชยันต์” ฉีกบัตร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ต.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กโจมตี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย กรณีข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่วเมื่อปี 2547 ว่า ขอให้นายไชยันต์เคารพการตัดสินใจของ น.ส.แพทองธารที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง การเสนอตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำงานให้พรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบายที่ดีๆให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ อยากตั้งคำถามกลับไปยังนายไชยันต์ที่เคยฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 แม้คดีจะตัดสินไปแล้ว แต่ในฐานะเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ แต่กลับมีพฤติกรรมเช่นนี้ที่สุดท้ายก็นำไปสู่การปฏิวัติ 19 ก.ย.49 นำความบอบช้ำมาให้ประเทศ เหมาะสมหรือไม่ เป็นอาจารย์แต่เที่ยวไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น เหมาะสมหรือไม่

จับตา พปชร.ทำองค์ประชุมล่ม

นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. จะเปิดสมัยประชุมสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นัดประชุม ส.ส.พรรค วันที่ 2 พ.ย. เพราะมีความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุม ต้องหารือกันว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องเข้าประชุมให้มากที่สุด เพื่อให้องค์ประชุมครบ เห็นว่าสมัยประชุมนี้อันตรายมาก เพราะในพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลก็มีความขัดแย้งกัน แสดงให้เห็นว่าเสถียรภาพรัฐบาลอาจไม่มั่นคง การพิจารณากฎหมายต่างๆอาจเป็นเหตุให้สภาล่มได้ โดยเฉพาะมีกฎหมายสำคัญคือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รอการพิจารณาอยู่

จะคืนอำนาจประชาชนเมื่อไร

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดประชุมใหญ่ของพรรค พบว่ากระแสตอบรับดีมาก เราแสดงให้เห็นถึงความพร้อม วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ที่พร้อมจะต่อยอดสู่ความสำเร็จทันทีถ้ามีการเลือกตั้ง การเปิดให้เด็กและเยาวชนประกวดเรียงความและภาพวาด พบว่าผู้ปกครองเด็กและเยาวชน ต้องแบกรับภาระการเรียนออนไลน์ตลอด 2 ปีเต็ม โดยที่รัฐบาลไม่คิดแก้ไขชดเชย แต่พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงปัญหาจนนำไปสู่แนวคิด “ธนาคารหน่วยกิตเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Academic Credit Bank : ACB) ที่จะช่วยแก้ไขและตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (new mormal) การศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง ในวิกฤติที่หนักหนา เราต้องการคนที่พร้อมและทำได้จริง ถ้าทุกพรรคต้องการทำเพื่อพี่น้องประชาชนจริง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตของตนเอง มุ่งสู่การเมืองใหม่แข่งขันสร้างสรรค์กันที่นโยบายและแผนงาน มากกว่าสร้างความกลัว

ฝ่ายค้านจ่อถกญัตติซักฟอก

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าชื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า พรรคก้าวไกล จะยื่นญัตติร่วมกันกับ ฝ่ายค้าน หลังเปิดประชุมสภาวันที่ 1 พ.ย. จะมีการ พูดคุยกันในวิปฝ่ายค้าน ถึงรายละเอียดและวันที่จะยื่นญัตติ ในความเห็นของพรรคก้าวไกลคิดว่าน่าจะยื่นญัตติภายใน 2 สัปดาห์หลังเปิดสมัยประชุม และเปิดอภิปรายได้ประมาณปลายเดือน พ.ย. เราควร ทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นเอกภาพ ประเด็นที่จะอภิปราย เช่น เรื่องการจัดการโควิด-19 การเตรียมความ พร้อมในการเปิดประเทศ ปัญหาของผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนรายใหญ่ ผลที่คาดหวังแน่นอนว่าถึงเวลาแล้วที่นายกฯ ต้องคืน อำนาจให้กับประชาชน เปลี่ยนแปลงผู้นำที่จะพาประเทศ พ้นวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือลาออก

“จิรายุ” จองคิวถล่มน้ำบาดาล

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่นายศักดิ์ดา วิเชียร์ศิลป์ อธิบดีกรมน้ำบาดาล แจ้งความหมิ่นประมาทตนที่ให้ข่าวจะตัดงบประมาณของกรมน้ำบาดาลนั้น ไม่รู้สึกกังวล และเตรียมหาข้อมูลเพิ่มเติมไว้ใช้ในการอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ด้วย คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้อธิบดีกรมน้ำบาดาลมาชี้แจงถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ยอมมา ให้ รองปลัดฯ มาชี้แจงเพียงคนเดียว อาจเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียก มาตรา 15 ขณะนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้เป็นจำนวนมาก

ชี้คุมเสียง ส.ส.ได้เบ็ดเสร็จ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า เรื่องเสียงโหวตในสภามั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล จะควบคุมเสียงได้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลถือว่าให้ความร่วมมือดี ยิ่งช่วงนี้มีข้อวิตกกังวลคงมีการพูดคุยกันบ่อยขึ้น ยืนยันจะดูแลเสียงในสภาฯให้ผ่านกฎหมายไปได้ ไม่แค่เฉพาะช่วงนี้แต่ต้องตลอดสมัยการประชุม เลย ภายในพรรค พปชร.เสียงเป็นเอกภาพ ไม่น่ามีผลกระทบอะไร เชื่อว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะหากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ต้องพิจารณา กฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนการเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ๊ง” เป็นที่ปรึกษา พรรคเพื่อไทยนั้น เป็นเรื่องปกติฝ่ายค้านอยากเห็นการเลือกตั้งโดยเร็วอยู่แล้ว และเปลี่ยนหัวหน้าพรรคด้วย อาจจะรีแบรนด์ส่วนจะดีหรือไม่ ค่อยไปตัดสินกันตอนเลือกตั้ง แต่มองแล้วไม่น่าเป็นห่วงอะไร

กระจายอำนาจกันพรรคแตก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำเสนอพิมพ์เขียวโครงสร้างพรรคใหม่ในส่วนของการทำงานระดับภาคต่อที่ประชุมกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 28 ต.ค. แกนนำพรรคกำลังพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างบริหารตามพิมพ์เขียวของนายพีระพันธุ์ รูปแบบโครงสร้างใหม่จะใช้โมเดลแบ่งโซนออกเป็น 10 ภาค ทั่วประเทศ มีหัวหน้าภาคที่ผ่านการเลือกกันเองของ ส.ส.มารับผิดชอบ แต่ละพื้นที่ มองว่าหากให้คนระดับรัฐมนตรี หรือผู้ที่มีศักยภาพ มีฐานเสียงในพื้นที่นั้นๆรับผิดชอบ จะสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรค ลดการบริหารงานแบบรวมศูนย์ กระจายอำนาจให้แกนนำทุกกลุ่มมีบทบาทขับเคลื่อนพรรค ไม่ก้าวก่ายข้ามโซนกันไปมา เป็นตัวกระตุ้นให้หัวหน้าภาคแข่งกันสร้างผลงานในการเลือกตั้ง และอาจเพิ่มสัดส่วนรองหัวหน้าพรรคมาดูแลทั้ง 10 โซน จากเดิมที่มีอยู่ 4 คน

“ป้อม-ตู่” ต่างมีขุมกำลังตัวเอง

ทั้งนี้ หากการปรับโครงสร้างประสบความสำเร็จ จะเป็นเหตุผลสำคัญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมงานพลังประชารัฐต่อไป ไม่ตัดสินใจไปตั้งพรรคใหม่ เนื่องจากแกนนำพรรครวมถึงบรรดารัฐมนตรีกลุ่มที่สนับสนุนนายกฯจะมีบทบาทดูแลพื้นที่และ ส.ส. ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะยังคงมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคอยู่ เพียงแต่บทบาทจะชัดเจนมากขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบภารกิจครอบจักรวาลเหมือนที่ผ่านมา แกนนำหลายคนมองตรงกัน หากไม่ปรับเปลี่ยนใดๆ จะส่งผลกระทบเลือกตั้งได้

“ไผ่” ยัน พปชร.ยังโครงสร้างเดิม

ขณะที่นายไผ่ ลิกค์ รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐที่จะเพิ่มตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจาก 4 คน เป็น 5 คน ว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงเหมือนเดิม ยังไม่เคยเห็น หรือได้ยินเรื่องดังกล่าว เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณา ตำแหน่งหัวหน้าภาคทั้ง 10 ภาคใหม่ นายไผ่ตอบว่า การให้แต่ละภาคจัดการเลือกหัวหน้าภาคกันเอง เพื่อความปรองดอง ส่วนภาคของตนนัดประชุมกันวันที่ 2 ต.ค. เมื่อถามว่าการให้แต่ละภาคจัดการเลือก หัวหน้าภาคเอง ไม่ใช่เพื่อลดบทบาท ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพลังประชารัฐใช่หรือไม่ นายไผ่ ตอบว่า ตำแหน่งหัวหน้าภาคมีอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนคน อาจเป็นคนเดิมก็ได้ เมื่อถามถึงเสียงโหวต ในสภาฯ รอบนี้จะไม่มีภาพความขัดแย้งกับนายกฯ แล้วใช่หรือไม่ นายไผ่ตอบว่า ไม่มีแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายกี่ฉบับก็ผ่านหมด

ร้อง กกต.สอบ “นิพนธ์” พ้น รมต.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรณีสำนักข่าวอิศราเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564 เรื่อง ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา โดยให้เหตุผลไว้ส่วนหนึ่งว่า การกระทำของนายนิพนธ์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นเหตุควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (8) หรือไม่ โดยจะร้อง ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 1 พ.ย.นี้

โพลชี้คนอยากให้เลือกตั้ง ส.ส.

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,186 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค. เรื่องความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในสายตาประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.09 มองว่าเป็นความแตกแยกในพรรคการเมือง รองลงมาเห็นว่าเป็นการสร้างกระแส เป็นเกมการเมือง น่าจะมีการเลือกตั้ง และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นจากโควิด เมื่อถามว่า คิดอย่างไรหากมีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.31 บอกว่าจะได้เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 56.26 เห็นว่าเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆเข้ามาแก้ไขปัญหา ร้อยละ 50.80 จะได้เปลี่ยนนายกฯ เมื่อถามว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 32.94 จะเลือกเพื่อไทย ร้อยละ 25.21 เลือกก้าวไกล ร้อยละ 24.61 เลือกพลังประชารัฐ ร้อยละ 6.18 เลือกประชาธิปัตย์ และร้อยละ 4.2 เลือกภูมิใจไทย ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.67 อยากได้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ร้อยละ 21.67 เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 19.35 เลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นอกจากนี้ ร้อยละ 70.29 เห็นว่าถึงเวลาเลือกตั้งใหม่แล้ว มีแค่ร้อยละ 22.79 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา

สัญญาณนักการเมืองลงพื้นที่

ด้านนิด้าโพล เปิดผลสำรวจความเห็นประชาชน จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค. เรื่อง “ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่บ่อย…จริงใจหรือไก่กา?” พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 58.89 ระบุว่าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนและหาเสียงไปด้วยรองลงมาระบุว่า ไปเพราะกระแสการยุบสภามากกว่า สำหรับความคิดเห็นต่อการลงพื้นที่ของ ส.ส.เขต พบว่าร้อยละ 38.83 ระบุว่าไม่เคยลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนเลย รองลงมาระบุว่า ลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนไม่ค่อยบ่อย มีเพียงร้อยละ 7.45 ระบุว่าลงพื้นที่บ่อยมาก นอกจากนี้ส่วนใหญ่ระบุว่าไม่เคยเห็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลงพื้นที่เลย

“ตู่” ร่วมเวทีถกภูมิอากาศโลก

อีกเรื่อง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม นำคณะบินไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ สมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Conference Of the Parties (COP) ทั้งนี้ ไทยดำเนินตามนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในหลายๆส่วน อาทิ การยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 15 ล้านคัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578 ทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามขีดความสามารถที่แต่ละประเทศจะทำได้

“บิ๊กตู่” มีสปีชลดก๊าซเรือนกระจก

ต่อมาเวลา 18.20 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ ประกอบ ด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่รวม 30 คน เดินทางด้วยเครื่องบินแอร์บัส 320 CEO ไปยังท่าอากาศยาน Glasgow Prestwick เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสห ประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC : COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-3 พ.ย. ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ หลังมีสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ นายกฯมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมนำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

เป็นนัดสำคัญจำเป็นต้องไป

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางว่า จำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ เพื่อไปแสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมร่วมมือลดภาวะโลกร้อน และก๊าซเรือนกระจก เรามีแผนต่อเนื่อง คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญของโลกที่จำเป็นต้องไป และไทยถือเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. และหลายจังหวัด จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุดเพื่อชื่อเสียงของคนไทย ชื่อเสียงประเทศ เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ เราต้องยอมรับซึ่งกันและกัน