17 ปีที่รอคอย! พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ “ทะเลอันดามัน” ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก 

  • “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก 
  • กว่า 17 ปีที่รอคอย คุยกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ เชื่อหลังได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก คนรักทะเลไม่เสียประโยชน์แน่นอน
  • รู้หรือไม่ “เต่ามะเฟือง” คือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ทะเลอันดามันลุ้นเป็นมรดกโลก

เป็นเรื่องน่ายินดี หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ นำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ “ทะเลอันดามัน” ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

โดยล่าสุด เว็บไซต์ของ ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก ได้บรรจุ “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ที่นำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลตลอดชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่อยู่ตอนบนของคาบสมุทรไทย ในเขต จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 6 อุทยานแห่งชาติ 1 ป่าชายเลน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รวมไปถึงพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง 

จากการสอบถาม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ เปิดเผยว่า ตอนนี้พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันขึ้นในลิสต์ของยูเนสโกแล้ว จากนี้เขาจะมาพิจารณา ซึ่งเราจะต้องส่งรายงานฉบับเต็มตามไป หากไม่มีปัญหาใดๆ อาจจะได้รับการรับรองอีก 2 ปี แต่ถ้าเกิดเขาให้แก้ไข หรือมีข้อสงสัยเพิ่ม ก็อาจจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี

สำหรับรายงานฉบับเต็มที่เราจะส่งไปนั้น จะต้องมีทั้งในเรื่องของความคิดเห็น มีการประชุม ระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละจังหวัด เพราะยูเนสโกให้ความสำคัญกับเรื่องของประชาชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ ซึ่งเราได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการอธิบายชี้แจงให้เข้าใจว่า การได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก ไม่ใช่เป็นการออกกฎหมายใหม่ หรือประกาศเขียนอะไรเพิ่มเติม แต่เป็นการยกระดับอุทยานต่างๆ ทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องผลกระทบอะไรกับประชาชน ซึ่งตอนนี้ ชาวบ้านก็เข้าใจเพราะเห็นตัวอย่าง จาก “เขาใหญ่” ว่าไม่ได้มีผลกระทบ แต่กลับส่งผลดีด้วยซ้ำ เพราะช่วยให้การท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวอนุรักษ์ไปในตัว

หลังอันดามันเป็นมรดกโลกแล้ว มีอะไรเปลี่ยนไหม?

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การใช้ทางกฎหมายแทบจะไม่แตกต่างเลย เพราะกฎหมายที่เราใช้ในปัจจุบัน อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน การใช้กฎหมายแรงสุดๆ แล้ว เพียงแต่ว่าการตรวจตรา การลาดตระเวน การศึกษาวิจัย การวางแผน การจัดการอะไรต่างๆ จะเข้มข้นขึ้น โดยใช้กฎหมายเดิม แต่จะมีงบประมาณมากขึ้น มีกองทุนของทางต่างประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย

เมื่อเป็นเขตของมรดกโลกแล้ว ผู้คนจะให้ความสนใจสูง กระแสความสำคัญก็สูงตามขึ้นไปด้วย ในกรณีมีคนไปเหยียบปะการัง หรือไปทิ้งสมอใส่ปะการัง เพราะจากปะการังในอุทยาน จะกลายเป็นปะการังมรดกโลก 

แต่สิ่งที่เขตมรดกโลกทางทะเลมีความแตกต่างจากกับเขตมรดกโลกในแผ่นดิน คือ ทะเลแถบนั้นจะเป็นทะเลที่เป็นการท่องเที่ยวเยอะมากอยู่แล้ว หากเป็นมรดกโลก ผู้ประกอบการ ชาวบ้านท้องถิ่น ก็จะได้รับประโยชน์เต็มๆ หากปฏิบัติตามกฎระเบียบ แน่นอนว่าคนที่สร้างรีสอร์ตละเมิดลงไปในทะเล หรือบุกเข้าไปในป่าชายเลน หรือทำกิจกรรมที่ไม่อนุรักษ์ ซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว จะต้องโดนลงโทษอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น

ขณะที่คนที่ทำถูกกฎหมาย ทำตามกฎระเบียบก็จะได้รับประโยชน์ เพราะว่ามันก็เหมือนกลายเป็นมรดกโลก ก็เป็นกลายโปรโมตไปในตัว

ถ้าพูดตามตรงทะเลในอาเซียนทั้งหมด ที่อื่นมีมรดกโลก แต่ไม่มีที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยวเยอะและโด่งดังเท่าอันดามันแน่นอน ผมรับประกัน ก่อนช่วงโควิด-19 มีคนมาทะเลแถวนั้นประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ถึงมาเลเซียจะมีมรดกโลก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะบอกคือ ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางทะเลที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังจะได้การยกระดับเป็นมรดกโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย

การเปิดรับนักท่องเที่ยว หลังขึ้นเป็นมรดกโลก

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องของมรดกโลก จะเป็นนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวชาวยุโรป หรือชาวต่างชาติอื่นๆ ที่เขารักสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งชาติอื่นในเอเชีย

ขณะที่นักท่องเที่ยว ที่มากับเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 200-300 คน แล้วมาเหยียบปะการังก็ยังมี เพียงแต่ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของเขตมรดกโลก ทั้งโลกจะเป็นแบบนี้ ซึ่งจะส่งผลดี เราได้รายได้ ขณะเดียวกันเราก็ยกระดับนักท่องเที่ยวของเรา เป็นนักท่องเที่ยวที่ยินยอมจ่ายเงินเยอะ เพื่อที่จะได้อยู่กับธรรมชาติ แล้วก็ได้มีความสุขกับการบริหารจัดการดูแลธรรมชาติดีๆ ไม่ใช่เละเทะ มีแต่ขยะ มีแต่อะไรเต็มไปหมด

นายทุน-ชาวบ้าน ใครได้ประโยชน์-เสียประโยชน์

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ผมไม่แยกเป็นนายทุน กับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านทำผิดก็มี อย่าไปแยกนายทุนกับชาวบ้านเลย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือ นายทุนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และรักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้องการที่จะดูแลโลกจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนและจะได้เยอะด้วย

ส่วนคนที่ไม่ดูแลโลก ไม่สนใจ หรือสนใจแต่เงิน ไม่สนใจธรรมชาติ ทำลายทะเล หรือไม่สนใจขยะ สร้างรุกล้ำเข้าไปในทะเล รุกล้ำเข้าไปในป่า พวกนั้นจะต้องเสียประโยชน์ และจะต้องโดนจัดการแน่นอน เมื่อเป็นเขตมรดกโลก กฎกติกาต่างๆ จะเข้มงวด สำหรับคนที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง

เต่ามะเฟือง สิ่งสำคัญในการเป็นมรดกโลก

เต่ามะเฟือง เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญในการเป็นมรดกโลก สามารถพูดแบบนี้ได้เลย มรดกโลกของไทยอย่างอันดามันที่เสนอไป หนึ่งในประเด็นสำคัญ 5-7 ประเด็นนี้ คือ เต่ามะเฟือง เพราะฉะนั้นเต่ามะเฟืองต้องรับการดูแลคุ้มครองมากขึ้นแน่นอน ถ้าเกิดเราได้เป็นมรดกโลกแล้วไม่คุ้มครองเต่ามะเฟือง เขาจะไม่ให้ เพราะเป็นประเด็นหลักในการเสนอขอเป็นมรดกโลก

ขณะที่ “พะยูน” จะได้ประโยชน์น้อยนิดนึง เพราะว่าพะยูนจะมีอยู่ที่ จ.ตรัง ซึ่งไม่ได้เป็นเขตมรดกโลก แต่ก็มีพะยูนบางตัว ที่อยู่แถวพังงา แถวระนอง พวกนั้นจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น 

ปัญหาที่เจอระหว่างใช้เวลาผลักดันโครงการกว่า 17 ปี 

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า อุปสรรค คือ หมดกำลังใจ ระยะเวลา 17 ปี ไม่ใช่สั้นๆ ผมเริ่มทำตั้งแต่ลูกยังเล็กจนตอนนี้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว อุปสรรคจะมาเป็นระยะๆ พอมีกระแส สักพักก็เงียบ นักวิชาการก็ต้องมานั่งผลักดันกันเอง ทั้งหมดที่ผ่านมานี้ คือนักวิชาการที่ผลักดัน พอโครงการเริ่มมา พอเปลี่ยนผู้บริหารก็ขาดช่วง จนมาครั้งนี้ ทางรัฐมนตรีเองก็เข้าใจ ทั้งปลัด แล้วก็หลายต่อหลายคนก็เขียนความสำคัญ คือ ทุกๆ คน พวกเรานักวิชาการที่ผลักดันกันมาตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปบอกกับผู้บริหาร บอกว่าหมดแรงแล้ว เกษียณกันหมดแล้วเพราะเหลือกันอีกไม่กี่ปี ไม่รู้จะทำยังไง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาเพราะทุกคนเห็นใจ แล้วก็โชคดีของเราที่สำคัญที่สุด คือ “เต่ามะเฟือง” ที่มีกระแสขึ้นมาอย่างมากในรอบ 3 ปี เต่ามะเฟืองอันดามันเป็นข่าวไปทั่วโลก คือเริ่มตั้งแต่ผลักดันให้ “เต่ามะเฟือง” เป็นสัตว์สงวน มีการขึ้นมาวางไข่ ผู้คนช่วยกันดูแล ทำให้มาจนถึงจุดนี้ได้.

ผู้เขียน : J Mashare

กราฟิก : Chonticha Pinijrob