420 “วันกัญชาโลก” กรมการแพทย์แผนไทยฯ เน้นย้ำประชาชน “กัญชา” ควรใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

420 ‘วันกัญชาโลก’ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นย้ำกับประชาชน ‘กัญชา’ ควรใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

‘วันกัญชาโลก’ ตรงกับวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีและการทำให้ กัญชา ถูกกฎหมาย โดยจุดเริ่มต้นของ วันกัญชาโลก เกิดจาก กลุ่มนักเรียนไฮสคูลซานราฟาเอล 5 คน ซึ่งได้แก่ สตีฟ แคปเปอร์, เดฟ เรดดิกซ์, เจฟฟรีย์ โนเอล, ลาร์รีย์ ชวาร์ตซ์ และ มาร์ก กราวิช หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Waldos

พวกเขาได้นัดรวมตัวกันในเมืองซานราฟาเอล รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตามหาไร่กัญชาในตำนาน ที่ว่ากันว่าถูกทิ้งร้างอยู่ที่ใดที่หนึ่งในเมือง ตามแผนที่เก่าที่เป็นสมบัติของคนปลูกกัญชาตามที่เรียนมา

พวกเขาใช้รูปปั้นของ หลุยส์ ปาสเตอร์ ในโรงเรียนไฮสกูลซานราฟาเอลเป็นสถานที่นัดพบกัน ในเวลา 4:20 p.m. (ช่วงสี่โมงเย็น) เป็นเวลานัดพบ เพื่อสูบกัญชาและการเริ่มต้นแสวงหากัญชาในตำนาน ที่ซ่อนอยู่ใกล้กับ POINT REYRES โดยเรียกแผนนี้ว่า ‘สี่ยี่สิบหลุยส์’ ถึงกระนั้น แผนการล้มเหลวอยู่หลายครั้ง พวกเขาไม่เคยพบกัญชาที่ซ่อนอยู่ ช่วงหลังๆ พวกเขาจึงย่อเหลือแค่คำว่า ‘สี่ยี่สิบ’ จนต่อมากลายเป็นรหัส 420 (Four Twenty) ที่วัยรุ่นใช้เพื่อสื่อถึงการเสพกัญชา

จากรหัสที่ใช้สื่อสารกันในกลุ่มวัยรุ่น 5 คน กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอิสรเสรี มีการชุมนุมโดยรวมตัวกันในที่สาธารณะและจุดไฟเสพกัญชาพร้อมกันในเวลา 4.20 PM เริ่มจากแถบอเมริกาเหนือ ก่อนขยายวงกว้างไปทั่วทวีปอเมริกา เป็นที่มาของงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในหลายเมืองทั่วโลก โดยในสหรัฐจะเขียน 4/20 นับเป็นรหัสในวัฒนธรรมกัญชาที่หมายถึงการเสพกัญชา โดยเฉพาะการสูบในเวลา 4.20 PM (16.20 น.)

จนในที่สุด รหัส 420 จากตัวเลข 4 โมง 20 นาที ได้กลายมาเป็นเดือน 4 วันที่ 20 (20 เมษายน) ทำให้ 20 เมษายนของทุกปี ถูกยกเป็น ‘วันกัญชาโลก’

สำหรับในไทย เนื่องใน ‘วันกัญชาโลก’ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นย้ำประชาชน ควรใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการรักษาโรคได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน อีกทั้งขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการควบคุมช่อดอกกัญชา เนื่องใน ‘วันกัญชาโลก’

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องในวันกัญชาโลก ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรายังขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการรักษา เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีพื้นฐานจากภูมิปัญญาไทย โดยเน้นการบูรณาการการรักษาผู้ป่วยและประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติของการให้บริการ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง 

การรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยตำรับยากัญชาทางการแพทย์รวมกว่า 79,423 ราย รักษาในกลุ่มอาการนอนไม่หลับ จำนวน 197,516 ครั้ง อาการปวดตามร่างกาย (ปวดขา ปวดเข่า ปวดบ่า ปวดไหล่) 18,179 ครั้ง อาการปวดหลัง 9,558 ครั้ง อาการลมปะกัง หรือ ลมตะกัง 8,659 ครั้ง อีกทั้ง อาการอื่นๆ อาทิ อาการสันนิบาตลูกนก (โรคพาร์กินสัน) ลมจับโปงแห้งเข่า ปวดศีรษะ อาการชา รวม 14,131 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแนวทางการนำกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาบูรณาการในระบบบริการสุขภาพ มี 4 แนวทาง คือ 

  1. แนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็งและผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative care)
  2. แนวทางการดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care)
  3. การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย
  4. การดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster)

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กัญชา มีการใช้ในชุมชน พื้นบ้านในทุกภาคของประเทศ จากการถอดองค์ความรู้การใช้กัญชาของชาวบ้านทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่า มีการใช้ในวิถีชีวิต เป็นอาหาร ยา เครื่องนุ่มห่ม เครื่องสำอาง ซึ่งกัญชาเป็นพืชที่มีการปลูกและใช้ต่อเนื่องกันมาแม้ในช่วงที่ยังเป็นยาเสพติด และชาวบ้านมักจะใช้ต้นกัญชาที่ปลูกเองเพื่อจะได้เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกในรอบต่อๆ ไป ปลูกน้อยแค่พอใช้ เช่น 2-3 ต้น ในแต่ละรุ่นปลูกไว้หลังบ้านหรือที่นา ไม่ได้เลือกต้นตัวผู้หรือตัวเมีย และจะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีกำจัดแมลง

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่ากัญชานั้นสามารถนำมาใช้ในวิถีชีวิตได้ เพียงแต่ในปัจจุบันเราไม่ส่งเสริมในเชิงสันทนาการ แต่เอาประโยชน์จากคุณค่าของกัญชามาทำเป็นยาเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงยา และใช้ยาจากภูมิปัญญาได้อย่างปลอดภัย