“Strip test” ชุดตรวจ ATK ใบด่างมันสำปะหลัง ทำได้เอง! ทราบผลใน 15 นาที

โรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของไทย โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 80-100%

“ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยจาก สวทช. ได้พัฒนาเทคนิคอิไลซา สำหรับตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลังที่พบในประเทศได้สำเร็จ โดยใช้น้ำยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่พัฒนาขึ้นให้มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจอิไลซาที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาต่อตัวอย่างถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้องเก็บตัวอย่างนำมาตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการ และต้องใช้อุปกรณ์เครื่องอ่านผลใช้เวลาตรวจสอบจนทราบผล 1-2 วัน ล่าสุดทีมวิจัยจึงต่อยอดพัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Strip test ตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง แก้ปัญหาข้อจำกัดของชุดตรวจสอบแบบเดิมได้แล้ว”

ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. บอกถึงที่มาของการพัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ต่อยอดจากของเดิม…เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลัง นับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อไปเพาะปลูกต่อ รวมถึงชะลอการแพร่กระจายของโรคใบด่างลงได้

โดยการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น mini-stem cutting หรือ tissue culture นอกจากนี้ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูก เพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

สำหรับชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test มีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการ และเครื่องมือในการอ่านผล สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ และมีความแม่นยำ ความจำเพาะเจาะจง ความไวเท่ากับชุดตรวจอิไลซาที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR พบว่ามีความแม่นยำร้อยละ 94 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91

ดร.ชาญณรงค์ บอกอีกว่า ชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกนำใบพืชมาบดในบัฟเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ ขั้นตอนต่อมาจุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และสุดท้ายอ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง C และ T แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หาก ขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค

ขณะนี้ทีมวิจัยได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และเตรียมนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยจะมีการจัดฝึกอบรมเรื่อง “การตรวจวินิจฉัย เชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ immunochromatographic strip test” และส่งชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานที่สนใจนำไปประเมินผลการใช้งานจริง

สำหรับราคายังไม่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินประสิทธิภาพในสภาพแปลง และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ เพื่อปรับปรุงพัฒนาสำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac หากเกษตรกรสนใจสามารถกรอกข้อมูลและแจ้งความประสงค์ได้ทางลิงก์ https://www.biotec.or.th/home/request-information-th/ โทร.0-2564-8000.

กรวัฒน์ วีนิล