สหรัฐฯ แบนบริษัทสปายแวร์ NSO Group 

สหรัฐอเมริกา ตัดสินใจแบนบริษัทด้านความมั่นคงปลอดภัยจากประเทศอิสราเอลอย่าง NSO Group เนื่องจากกระทบกับความมั่นคงและนโยบายหลักของประเทศ

NSO Group บริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์จากประเทศอิสราเอล กลายเป็นบริษัทล่าสุดที่ถูกขึ้นบัญชีดำในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

การตัดสินใจแบน NSO Group ภายใต้รัฐบาลของโจ ไบเดน เป็นเพราะว่า บริษัทดังกล่าวจากประเทศอิสราเอลได้ขัดกับนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือได้ว่า เป็นนโยบายหลักด้านการต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ และสหรัฐฯ ต้องการปราบปรามซอฟต์แวร์ที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เราเคยได้ยินการพูดถึงบริษัท NSO Group มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากซอฟต์แวร์ของพวกเขาที่มีชื่อว่า Pegasus ได้เป็นสปายแวร์ โดยมีความพยายามแฮกข้อมูลจากมือถือ ซึ่งเป็นมือถือของนักข่าว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงทนายความทั่วโลก

Forbidden Stories องค์กรสื่อไม่แสวงหาผลกำไร เปิดเผยว่า การทำงานของซอฟต์แวร์ Pegasus เมื่อถูกติดตั้งไปที่มือถือของเหยื่อ จะทำการดึงข้อความ รูปภาพ อีเมล บันทึกการโทร รวมถึงการเรียกเปิดไมโครโฟนอย่างลับๆ

จากการตรวจสอบพบอีกว่า เป้าหมายที่อาจถูกสปายแวร์ Pegasus หวังลักลอบเก็บข้อมูลมีจำนวนมากกว่า 5 หมื่นคน เป็นนักข่าวประมาณ 180 คน ซึ่งมาจากสำนักข่าวใหญ่ๆ เช่น เอเอฟพี, ซีเอ็นเอ็น, นิวยอร์กไทมส์ และอัลจาซีรา เป็นต้น และยังไม่มีการยืนยันว่ามีโทรศัพท์ของใครถูกแฮกจริงๆ ไปแล้วหรือไม่

หน่วยข่าวกรองของประเทศโมร็อกโก เคยรายงานด้วยว่า โทรศัพท์มือถือของประธานาธิบดีมาครงที่เคยใช้ในปี 2017 อาจเป็นเป้าหมายของสปายแวร์ Pegasus อีกด้วย

จากการที่ NSO Group ถูกขึ้นบัญชีดำ นั่นหมายความว่า บริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา จะไม่สามารถทำการค้าใดๆ กับบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ยกเว้นจะขออนุญาตเป็นการเฉพาะ

รายงานของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุอีกด้วยว่า จากการสืบสวนข้อมูล แสดงให้เห็นว่า NSO Group และอีกบริษัทจากประเทศอิสราเอลที่มีชื่อว่า Candiru ได้พัฒนาและจัดหาสปายแวร์ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ, ผู้สื่อข่าว, นักธุรกิจ, นักเคลื่อนไหว, นักวิชาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่การทูต

ที่ผ่านมา NSO Group ปฏิเสธเสียงแข็งมาตลอดว่า ซอฟต์แวร์ Pegasus ถูกใช้เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และด้านการป้องกันอาชญากรรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแม้แต่น้อย

ที่มา: The Guardian